คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาณโทรศัพท์เป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดที่จำเลยต่อพ่วงเป็นตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ที่ 1880/2542
แม้จำเลยจะกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลากัน มิได้กระทำต่อเนื่องติดต่อกัน การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวไม่
ความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก และ 336 ทวิ มิได้เกี่ยวพันกัน จึงไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 91 (2) มาบังคับใช้ได้ ทั้งการจะนำมาใช้ได้ต้องเป็นกรณีหลังจากลดโทษแต่ละกระทงความผิดแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ , ๓๓๔ , ๓๓๕ , ๓๓๖ ทวิ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๑๑ , ๑๒ , ๑๘ , ๕๘ , ๖๒ , ๘๑ ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ และให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน ๒๖,๗๐๓.๕๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง , ๘๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) , ๓๓๖ ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๑๔ วัน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๑๔ วัน ฐานไม่มีหนังสือเดินทาง (ที่ถูกฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง) จำคุก ๑๔ วัน (ที่ถูกความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา ๑๑ , ๑๒ (๑) , ๑๘ วรรคสอง , ๖๒ วรรคหนึ่ง , ๘๑ ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกกระทงละ ๑๔ วัน รวมสองกระทง จำคุก ๒๘ วัน) ฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ (ที่ถูกฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ) จำคุกกระทงละ ๑ ปี ๖ เดือน รวม ๑๖ กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น ๒๔ ปี ๑ เดือน ๑๒ วัน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๒ ปี ๒๑ วัน ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ และให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน ๒๖,๗๐๓.๕๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก ประกอบมาตรา ๓๓๖ ทวิ ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าตามช่องทางที่รัฐมนตรีกำหนด ฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัว ฐานคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๑ , ๑๒ (๑) , ๑๘ วรรคสอง , ๕๘ , ๖๒ วรรคหนึ่ง , ๘๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ แต่เฉพาะฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัว เป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) ให้จำคุก ๒๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๐ ปี ให้ยกโทษจำคุกในความผิดฐานคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การที่จำเลยแอบต่อพ่วงใช้สัญญาณโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาตและแอบใช้สัญญาณโทรศัพท์โทรไปยังต่างประเทศโดยเจตนาจะไม่ชำระค่าใช้โทรศัพท์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการต่อใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเอาคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยผู้เสียหาย โดยนำเครื่องโทรศัพท์ไปพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหาย จากนั้น จำเลยกดเลขหมายโทรศัพท์ติดต่อไปต่างประเทศรวม ๑๖ ครั้ง แต่ละครั้งโทรติดต่อหลายรายการ จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งเท่ากับจำเลยรับว่าได้ลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ของผู้เสียหายไปจริง สัญญาณโทรศัพท์เป็นกรรมวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องที่ศูนย์ชุมสายประจำภูมิภาคของผู้เสียหาย แล้วแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นวิทยุแล้วส่งไปยังเครื่องรับปลายทางในต่างประเทศ เครื่องรับปลายทางจะแปลงสัญญาณกลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดที่จำเลยต่อพ่วงเป็นตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ โจทก์ นายบรรหาร ศรีภิรมย์ จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙ ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม เห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลากัน มิได้กระทำต่อเนื่องติดต่อกัน และหลังจากการกระทำแต่ละครั้งบรรลุวัตถุประสงค์สมดังเจตนาแล้ว จำเลยก็เลิกกระทำโดยถอดเครื่องโทรศัพท์ออกจากสายสัญญาณโทรศัพท์ที่ต่อพ่วงเชื่อมติดกันไว้ออกอันเป็นการเลิกกระทำความผิดในครั้งนั้น ๆ โดยเด็ดขาด การกระทำความผิดครั้งต่อไปต้องนำเครื่องโทรศัพท์ไปต่อพ่วงกับสายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายใหม่ทุกครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันอันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ปรับบทลงโทษจำเลยความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองและความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก , ๓๓๖ ทวิ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโทษจำคุกทุกกระทงที่รวมลงแก่จำเลยนั้น กระทงที่หนักที่สุดคือฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี ดังนี้ โทษจำคุกทั้งสิ้นที่จะลงแก่จำเลยนั้นจะเกิน ๒๐ ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) วรรคแรก , ๓๓๖ ทวิ มิได้เกี่ยวพันกัน ทั้งการที่จะบังคับใช้มาตรา ๙๑ (๒) จะต้องเป็นกรณีที่หลังจากลดโทษแต่ละกระทงความผิดแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นที่จะลงแก่จำเลยเกิน ๒๐ ปี มิใช่วางโทษทุกระทงก่อน เมื่อเกิน ๒๐ ปี จึงลงโทษจำคุกได้เพียง ๒๐ ปี แล้วจึงลดโทษภายหลัง คำพิพากษาส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ จึงไม่ชอบ แม้โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่จะลงโทษจำเลยโดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วจำคุกเกิน ๑๐ ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษามิได้ มิฉะนั้นจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕ แต่อย่างไรก็ดีที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น แม้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะนั้น โดยเหตุที่จำเลยลักทรัพย์รวม ๑๖ ครั้ง คิดเป็นเงินเพียง ๒๖,๗๐๓.๕๐ บาท ซึ่งนับว่าไม่ร้ายแรงนัก ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองก็มิใช่ความผิดที่ร้ายแรงเช่นเดียวกัน ประกอบกับจำเลยมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอเพราะมีโรคเรื้อรังเบียดเบียน ทั้งจำเลยถูกคุมขังมาตั้งแต่ถูกจับกุมเป็นเวลาเกือบ ๓ ปี การคุมขังจำเลยไว้ต่อไปย่อมจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสังคมไทยส่วนรวม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รวมโทษจำคุกทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) ความผิดฐานลักทรัพย์ ปรับกระทงละ ๘,๐๐๐ บาท รวมปรับ ๑๒๘,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๖๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ จำเลยถูกคุมขังมาพอแก่โทษปรับแล้วจึงให้ปล่อยตัวไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘.

Share