คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องนำผู้แปลมาสืบ เมื่อจำเลยเห็นว่าคำแปลตรงไหนไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร จำเลยก็โต้แย้งหรือเสนอคำแปลที่ถูกต้องได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้กระทำการดังกล่าว จึงถือได้ว่าคำแปลเอกสารภาษาต่างประเทศของโจทก์ถูกต้องแล้ว
สินค้าของโจทก์จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาราว 15 ปี แล้ว แต่โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งสินค้าโจทก์ที่เรียกว่า “CALUMET” นั้นไม่มีคำแปล การที่จำเลยเรียกชื่อสินค้าของจำเลยว่า “calumak” ซึ่งแตกต่างกับชื่อสินค้าของโจทก์เป็นสีแดงและมีรูปคนประกอบเหมือนกัน ทั้งสิ้นค้าของโจทก์จำเลยก็เป็นสินค้าจำพวก 42 เช่นเดียวกัน ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 29 วรรค 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดที่ได้จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายมลรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเครื่องปรุงอาหาร โจทก์ได้จดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าในจำพวก ๔๒ สำหรับสิ่งของสินค้าทั้งจำพวกในประเทศไทยแล้ว โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “CALUMET” ไม่มีคำแปล สินค้าโจทก์มีคุณภาพดีเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกและประเทศไทย ผู้ซื้อเชื่อถือในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ก่อนที่จำเลยจะผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าว จำเลยประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเครื่องปรุงอาหารซึ่งมีคุณภาพไม่ดีเท่าสินค้าของโจทก์ โดยจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าว่า “calumak” ซึ่งมีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้คนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและให้ทำลายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าเอกสารและคำแปลท้ายฟ้องจำเลยขอปฏิเสธการมีอยู่และความถูกต้อง จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วในสินค้าประเภท ๔๒ โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับไม่ให้จำเลยใช้ จำเลยใช้สิทธิของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยวา จำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว และไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่เมื่อเครื่องหมายการค้านี้เป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ พิพากษาห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้นำผู้แปลเอกสารภาษาต่างประเทศมาสืบจึงรับฟังคำแปลไม่ได้นั้น เห็นว่ากฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องนำผู้แปลมาสืบ เมื่อจำเลยเห็นว่าคำแปลตรงไหนไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไรจำเลยก็โต้แย้งหรือเสนอคำแปลที่ถูกต้องได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้กระทำการดังกล่าว จึงถือได้ว่าคำแปลเอกสารภาษาต่างประเทศของโจทก์ถูกต้องแล้ว ปัญหาเรื่องจำเลยเลียนแบบสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าสินค้าของโจทก์จำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาประมาณ ๑๕ ปีแล้ว สินค้าของโจทก์ที่เรียกว่า “CALUMET” นั้นไม่มีคำแปล การที่จำเลยเรียกชื่อสินค้าของจำเลยว่า “calumak” ซึ่งแตกต่างกับชื่อสินค้าของโจทก์เพียงอักษรตัวท้ายสองตัว เมื่อออกสำเนียงก็คล้ายคลึงกัน คือโจทก์ออกสำเนียงว่า “คาลูเมต” ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า “คาลูแมค” สีพื้นของเครื่องหมายการค้าเป็นสีแดง และมีรูปคนประกอบเหมือนกันทั้งสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เป็นสินค้าจำพวก ๔๒ คือวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นเครื่องปรุงอาหารเช่นเดียวกัน ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ แม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยก็เป็นการละเมิด โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ วรรคสอง แม้โจทก์จะนำสืบเรื่องค่าเสียหายไม่ชัดแจ้งว่าเสียหายเท่าไรแน่ ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามความเหมาะสม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share