คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกู้เงินโดยเอาที่ดินและบ้านมาทำจำนองเป็นประกันหนี้นั้น เมื่อไม่มีข้อตกลงให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคแรก ซึ่งห้ามเอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงิน
ประเพณีการค้าของธนาคารที่ให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ เมื่อผู้กล่าวอ้างไม่นำสืบก็รับฟังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอไถ่ถอนจำนองโดยว่า โจทก์กู้เงินจำเลยไป ๕๐,๐๐๐ บาท และได้เอาที่ดินพร้อมด้วยเรือน ๑ หลังจำนองไว้ ดอกเบี้ยค้าง โจทก์จึงต้องเปลี่ยนสัญญาใหม่ โดยเพิ่มดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นเงิน ๙๕,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน ๑๕๐,๗๑๘.๕๑ บาท โจทก์เห็นว่าเป็นการเกินเลยไปมาก จึงขอชำระเพียง ๑๓๐,๓๒๑.๗๒ บาท และจำเลยได้ยุยงให้มีผู้ซื้อเรือนของโจทก์ โจทก์ต้องเสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยให้โจทก์ไถ่ถอนการจำนองและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีโจทก์เป็นลูกหนี้จำนองฝ่ายเดียว จึงไม่มีหนี้สินที่จะหักทอนบัญชีกัน กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๕ วรรคแรก ซึ่งห้ามเรียกดอกเบี้ยทบต้น พิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์ไถ่ถอนการจำนองและคืนเงิน ๒๑,๕๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญากู้โดยการจำนองมิได้มีข้อความปรากฏตกลงกันให้จำเลยคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือมีข้อตกลงกันเป็นหนังสือแต่ประการใด ทั้งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีหนี้สินอะไรที่จะหักกลบลบหนี้ในทางบัญชีเดินสะพัดได้ กรณีต้องปรับด้วยมาตรา ๖๕๕ วรรคแรก ซึ่งห้ามเอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงิน
ที่จำเลยฎีกาว่า เป็นประเพณีการค้าของธนาคารเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประเพณีการค้าของธนาคารในกรณีดังกล่าวจะมีอยู่อย่างไรนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ เมื่อจำเลยกล่าวอ้างขึ้นแต่ไม่นำสืบ ก็รับฟังไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share