คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาทก่อนมารดาตายมารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยคนเดียว ขอให้แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 3 ส่วน แต่ปรากฏว่าคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความมรดกแล้ว โจทก์ที่ 2 คงมีสิทธิรับมรดกร่วมกับจำเลยเพียง 2 คนดังนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วน ไม่ได้เพราะเกินคำขอ คงพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 3 ส่วนตามคำขอ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งมรดกที่บ้านมีโฉนดตราจองและที่นาอีก1 แปลง คนละ 1 ใน 3 ส่วน

จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้ครอบครองมาฝ่ายเดียว คดีขาดอายุความมรดก

ในวันชี้สองสถาน โจทก์ถอนฟ้องเฉพาะที่นา คงพิพาทกันเฉพาะที่บ้านซึ่งรับกันว่าเป็นมรดกของนางริดมารดาโจทก์ จำเลยนางริดตายมาได้ 18 ปีแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยได้ครอบครองที่บ้านมรดกมาฝ่ายเดียว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านายแป้ะโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่พิพาทส่วนนางหลิมโจทก์เคยอยู่กับนางริดมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาทนางริดตายมาราว 18 ปีแล้ว เมื่อนางริดตายราว 4-5 เดือน พวกลูก ๆได้ตกลงรื้อเรือนถวายวัด นางหลิมโจทก์คงอาศัยอยู่ที่เรือนนายเช้าจำเลยซึ่งปลูกอยู่ติดต่อกับเรือนนางริดในที่ดินพิพาทนั้นเอง อยู่ได้ราว 7-8 เดือนก็ไปอยู่จังหวัดเพ็ชรบูรณ์เพิ่งกลับมาเมื่อราวเดือน3-4 พ.ศ. 2498 แล้วเกิดคดีฟ้องร้องกันระหว่างโจทก์จำเลยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2498

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่นางหลิมโจทก์อยู่เรือนมารดามาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วอยู่ที่เรือนนายเช้าจำเลยในที่พิพาทอีก รวมอยู่ได้ราวปีเศษจึงไปอยู่จังหวัดเพ็ชรบูรณ์นั้นนับว่านางหลิมได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับนายเช้าด้วยกันในตอนแรก ฉะนั้น นางหลิมโจทก์กับนายเช้าจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเบื้องต้นต้องถือว่าได้ครอบครองไว้แทนกัน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมฝ่ายหนึ่งจะอ้างอำนาจครอบครองเป็นปรปักษ์ได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่าไม่มีเจตนาจะยึดทรัพย์สินนั้นแทนต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่านายเช้าจำเลยได้แจ้งให้นางหลิมทราบว่าตนจะครอบครองที่พิพาทไว้เป็นปรปักษ์เพื่อตนโดยเฉพาะ ดังนี้ ในระหว่างที่นางหลินไปอยู่จังหวัดเพ็ชรบูรณ์ จึงถือว่านายเช้าได้ครอบครองที่ไว้แทนในฐานะเป็นเจ้าของร่วมคดีสำหรับนางหลิบยังไม่ขาดอายุความ

เมื่อนางหลิมและนายเช้าคงเป็นผู้รับมรดกนางริดมารดาอยู่เพียง2 คน นางหลิมจึงมีสิทธิได้รับทรัพย์พิพาท 1 ใน 2 ส่วน แต่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องของนางหลิม ๆ ขอส่วนได้เพียง 1 ใน 3 ส่วน ฉะนั้น ศาลจะพิพากษาให้เกินคำขอไม่ได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้แบ่งทรัพย์ที่พิพาทให้นางหลิมโจทก์ตามคำขอ 1 ใน 3 ส่วน

Share