แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีพฤติกรรมในการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานของจำเลย และมีพฤติการณ์ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับการทุจริตของ ส. ในการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญคู่จ่ายประกอบการเบิกจ่ายแล้วนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังที่จำเลยระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งพักงานซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีความผิดร้ายแรง หากจะให้โจทก์คงปฏิบัติงานอยู่อาจจะเกิดผลร้ายแก่ธนาคารจำเลยได้ จำเลยย่อมมีอำนาจพักงานโจทก์ได้ คำสั่งพักงานของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานของจำเลย แม้จำเลยจะมิได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนและวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ไปโดยชอบแล้ว หาทำให้คำสั่งพักงานที่จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งได้โดยชอบกลับกลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยมิได้วินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่ระเบียบกำหนดไว้ โจทก์ก็เพียงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น
การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดค่าเสียหายรายเดือนเท่ากับเงินเดือนของโจทก์ มิใช่ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายเพราะเหตุจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้โจทก์ตามความเหมาะสม อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,721,557 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงรับว่าโจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้าง และโจทก์สละข้อเรียกร้องเงินสะสมและค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 114,165 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า คำสั่งพักงานเป็นคำสั่งที่ชอบดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าในขณะที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ โจทก์มิได้ถูกสอบสวนหรือมีหลักฐานปรากฏชัดว่ามีความผิดร้ายแรง จำเลยเพิ่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 หลังจากพักงานถึง 15 เดือน และคณะกรรมการใช้เวลาสอบสวนและวินิจฉัยนานกว่า 1 ปี 6 เดือน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานของจำเลย เห็นว่า ระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานข้อ 7 วรรคแรก ระบุว่า “ในกรณีที่พนักงานถูกฟ้องหรือต้องหาคดีอาญา หรือกระทำผิดวินัยที่ร้ายแรง หากการพิจารณาคดีหรือการสอบสวนทางคดีหรือทางวินัยล่าช้า หากจะให้พนักงานผู้นั้นคงปฏิบัติงานอยู่ อาจเกิดผลร้ายแก่ธนาคาร หรือไม่สะดวกแก่การสอบสวน กรรมการผู้จัดการใหญ่จะสั่งพักงานตลอดเวลาที่สอบสวนพิจารณา เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้ที่ถูกสั่งพักงานมิได้กระทำความผิด และไม่มีมลทินมัวหมองหรือขาดความไว้วางใจ กรรมการผู้จัดการใหญ่จะสั่งให้ผู้นั้นกลับคืนตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นในชั้นและอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิมแล้วแต่จะเห็นสมควร” และข้อ 8 วรรคแรก ระบุว่า “การวินิจฉัยโทษทางวินิยแก่พนักงานที่ถูกสั่งพักงานหรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือสอบข้อเท็จจริงธนาคารต้องตั้งกรรมการสอบสวน และ/หรือวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานหรือตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ระยะ ระยะละไม่เกิน 3 เดือน สำหรับการสอบสวนทางวินัยที่ต้องรอการพิจารณาความดีความชอบ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่มีการวินิจฉัยโทษทางวินัย ให้พนักงานผู้นั้นได้รับการพิจารณาความดีความชอบตามผลงานในปีถัดไปตามปกติ สำหรับกรณีที่ถูกพักงานรอผลการวินิจฉัยโทษทางวินัยจากสำนวนการสอบสวนของกรรมการที่ธนาคารแต่งตั้งไว้ กรรมการผู้จัดการใหญ่จะพิจารณาสั่งให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมไปก่อนที่จะวินิจฉัยโทษทางวินัยก็ได้” ระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานดังกล่าวมิได้ระบุว่าจำเลยจะพักงานโจทก์ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ถูกสอบสวนความผิดทางวินัยเสียก่อน หรือจะต้องมีหลักฐานชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เพียงแต่ระบุว่าเมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานแล้ว จำเลยจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนหรือวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานหรือตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยเห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมในการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องตามระเบียบการฝาก – ถอนเงินของจำเลย และมีพฤติการณ์ต้องสงสัยว่าจะมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับการทุจริตของนางสุรวดีในการเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสำนักงานภาค 3 โดยไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญคู่จ่ายประกอบการเบิกจ่ายแล้วนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังที่จำเลยได้ระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งพักงาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเป็นกรณีความผิดร้ายแรง หากจะให้โจทก์คงปฏิบัติงานอยู่อาจจะเกิดผลร้ายแก่จำเลยได้ จำเลยย่อมมีอำนาจสั่งพักงานโจทก์ได้ คำสั่งพักงานเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยจะมิได้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนและวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยได้มีคำสั่งพักงานไปโดยชอบแล้ว หาทำให้คำสั่งพักงานที่จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งได้โดยชอบกลับกลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ และแม้จำเลยจะมิได้วินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 3 เดือนดังกล่าว ระเบียบของจำเลยก็ระบุไว้แต่เพียงว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่จะพิจารณาสั่งให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมไปก่อนที่จะวินิจฉัยโทษทางวินัยก็ได้ มิได้ระบุเป็นบทบังคับว่าจำเลยจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยต่อไปในทันทีที่ครบกำหนดเวลา 3 เดือนดังกล่าว การที่จำเลยยังคงพักงานโจทก์ต่อไปโดยมิได้มีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานจึงไม่ขัดต่อระเบียบของจำเลยและมิใช่การพักงานโดยไม่ชอบอีกเช่นกัน หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยมิได้วินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่ระเบียบกำหนดไว้ โจทก์ก็เพียงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเป็นการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นรายเดือนเท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าจ้างเป็นเงินเดือนละ 6,342.50 บาท เป็นเวลา 18 เดือน เป็นเงิน 114,165 บาท ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานข้อ 8 ระบุไว้ว่า ธนาคารต้องตั้งกรรมการสอบสวนและ/หรือวินิจฉัยโทษแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานหรือตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จำเลยจึงต้องวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานโจทก์ ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เป็นการกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าจ้างรายเดือนหลังจากจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์แล้วถึง 9 เดือน จึงไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยต้องวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานโจทก์ จึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นรายเดือนหลังจากจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์แล้ว 3 เดือน นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยังมิได้ถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงควรได้รับค่าเสียหายเป็นรายเดือนเท่ากับเงินเดือนของโจทก์ มิใช่ครึ่งหนึ่งของค่าจ้าง เห็นว่า ตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานข้อ 8 วรรคแรกดังกล่าว การวินิจฉัยโทษทางวินัยแก่พนักงานที่ถูกสั่งพักงาน หรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือสอบข้อเท็จจริงธนาคารต้องตั้งกรรมการสอบสวน และ/หรือวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานหรือตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด ให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ระยะ ระยะละไม่เกิน 3 เดือน ดังนั้น การวินิจฉัยโทษจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน กรรมการผู้จัดการใหญ่จะมีอำนาจขยายระยะเวลาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเท่านั้น คดีนี้จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์วันที่ 5 พฤษภาคม 2544 แต่เพิ่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีคำสั่งพักงานโจทก์แล้วถึง 1 ปีเศษ การที่ไม่อาจวินิจฉัยโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันออกคำสั่งพักงานจึงเป็นเพราะจำเลยมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ล่าช้านั่นเอง มิใช่เพราะมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จตามกำหนดได้ กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงไม่มีอำนาจพิจารณาขยายระยะเวลาต่อไปได้อีก ค่าเสียหายรายเดือนที่โจทก์จะได้รับจึงต้องกำหนดให้หลังจากจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์แล้ว 3 เดือน หาใช่ 9 เดือน ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดค่าเสียหายรายเดือนเท่ากับเงินเดือนของโจทก์มิใช่ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างนั้น เห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายเพราะเหตุจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้โจทก์ตามความเหมาะสม อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนเท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าจ้างเป็นเงินเดือนละ 6,342.50 บาท รวม 24 เดือน เป็นเงิน 152,220 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 152,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.