แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 ที่กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ แต่การจำกัดความรับผิดก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 60 ด้วย เหตุที่ไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ในกรณีตามมาตรา 60 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในลักษณะละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบล่าช้าอาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น จึงจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจำกัดความรับผิด ส่วนกรณีประมาทเลินเล่อธรรมดา อันรวมถึงละเมิดด้วยนั้น ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดตามมาตรา 39 กล่าวคือต้องรับผิดในความสูญเสีย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ภายใต้จำนวนจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58
การขนส่งสินค้าคดีนี้เป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยนำสินค้าของผู้ส่งหลายรายรวมไว้ในตู้เดียวกัน เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์เอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งแต่ละรายไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 บริษัท ท. ได้นำใบสั่งปล่อยสินค้าไปดำเนินพิธีทางศุลกากรและออกของ และไปติดต่อขอรับสินค้าของคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และได้รับแจ้งว่าสินค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ออกใบรายการสำรวจสินค้า จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ขนส่งได้มอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) ของ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรับตู้ไปเปิดเอง ซึ่งจะนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 40 (3) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2543 จึงเป็นฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 46
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 314,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์รับช่วงสิทธิ คือวันที่ 20 ธันวาคม 2543 จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 16,672.80 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 55,500 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 8,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 อันเป็นบทมาตราที่กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งนั้นบัญญัติให้ความรับผิดนี้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้โดยเฉพาะ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ความสำคัญต่อการจำกัดความรับผิดของตนได้แน่นอนและไม่สูงมากจนเกินสมควร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ขนส่งคิดคำนวณอัตราค่าระวางได้อย่างเหมาะสม ไม่สูงเกินไปจนเกิดผลเสียต่อต้นทุนราคาสินค้าในการประกอบการพาณิชยกรรมโดยรวม ขณะที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายสินค้าก็สามารถเลือกป้องกันความเสียหายโดยระบบการประกันภัยได้ ส่วนที่ตามมาตรา 58 บัญญัติให้การจำกัดความรับผิดต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 60 ที่บัญญัติว่า การจำกัดความผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้ “(1) การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าหรือโดยละเลย หรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้…” นั้นก็เห็นได้ว่า เหตุที่จะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ในกรณีดังกล่าว ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา ซึ่งในข้อนี้โจทก์มีแต่นายไพฑูรย์ ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ และนายมนูญ ซึ่งเป็นผู้สำรวจตรวจสอบความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จหรือความเห็นและเบิกความประกอบเพียงว่าสาเหตุของความเสียหายนั้นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแจ้งว่า เกิดจากการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ระมัดระวังทำให้เกิดการกระแทกเป็นเหตุให้ลังไม้ที่บรรจุสินค้า 1 ลัง แตกหัก สินค้าหลุดออกมาจากลังไม้ได้รับความเสียหาย โดยจากการสำรวจตรวจสอบปรากฏว่า แผ่นพลาสติกที่ห่อหุ้มฉีกขาดหลุดจากตัวสินค้า สินค้ามีรอยบุบมีรอยขีดข่วนบนพื้นผิวเท่านั้น ส่วนฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบถึงว่าสินค้าตกหล่นอย่างไร เพราะเหตุใด ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุที่สินค้าตกหล่นนั้น จำเลยทั้งสองหรือตัวแทนได้กระทำหรืองดเว้นกระทำการประการใด เป็นการกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหายหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งจะตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 60 (1) ดังกล่าวข้างต้น ดังนี้ จำเลยทั้งสองย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดระคนปนมากับมูลการรับขนของทางทะเลด้วย แม้ในมูลการรับขนของทางทะเล จะยกข้อต่อสู้เรื่องจำกัดความรับผิดได้ แต่สำหรับมูลละเมิดมิอาจยกข้อจำกัดความรับผิดมาอ้างได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติ มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติถึงเงื่อนไขความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นการเฉพาะ โดยเหตุที่ทำให้ของเสียหาย สูญหาย หรือส่งมอบชักช้านั้น ที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดนั้นตามปกติย่อมมีเหตุจากการขาดความระมัดระวังตามสมควรของผู้ขนส่งอันเป็นเหตุแห่งการกระทำละเมิดรวมอยู่ด้วยแล้ว แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ขนส่งให้อยู่ภายใต้บทบัญญัติการจำกัดความรับผิดด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ทั้งยังมีหลักเกณฑ์แบ่งขนาดของความรับผิดของผู้ขนส่งที่จะได้รับประโยชน์จากจำนวนจำกัดความรับผิด ตามมาตรา 60 (1) กล่าวคือ ถ้าเป็นการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในลักษณะละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่า การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าอาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น จึงจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจำกัดความรับผิด ส่วนกรณีประมาทเลินเล่อธรรมดา อันรวมถึงการละเมิดอยู่ด้วยนั้น ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดตามมาตรา 39 กล่าวคือ ต้องรับผิดในความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ภายใต้จำนวนจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 และเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะผู้ขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร จึงต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 ประกอบด้วยมาตรา 58 และ 60 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ขนส่งที่รวมถึงกรณีละเมิดด้วยแล้วไว้โดยเฉพาะมาใช้บังคับ จะนำลักษณะละเมิดของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับดังโจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้มอบสินค้า ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ในข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การขนส่งสินค้าครั้งพิพาทเป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยนำสินค้าของผู้ส่งหลายรายรวมไว้ในตู้เดียวกัน เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์เอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งแต่ละรายไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า ไม่ใช่การขนส่งที่ผู้ส่งนำตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าและปิดผนึกตู้เอง แล้วนำมาให้แก่ผู้ขนส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์และที่ปลายทางผู้รับตราส่งมารับตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์นำไปเปิดยังสถานที่ของผู้รับตราส่งเอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 7 กันยายน 2543 บริษัทไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้นำใบสั่งปล่อยสินค้าไปดำเนินพิธีทางศุลกากรและออกของ และไปติดต่อขอรับสินค้าของคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่า สินค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ออกใบรายการสำรวจสินค้า จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ขนส่งมอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) ของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรับตู้ไปเปิดเอง ซึ่งเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 40 (3) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2543 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ.