แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมิใช่ค่าเช่าซื้อ สิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ตก อยู่ ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(6) กรณีต้องบังคับตามอายุความทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ 10 ปี เมื่อจำเลยผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตน เสมือนเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้อ จำเลยก็มีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายและตามสัญญาเช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ รวมทั้งต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อแก่โจทก์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ป.ผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์ ให้ส่งรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 10,000 บาทแทน กับให้ใช้ค่าเสียหาย1,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกรถจักรยานยนต์คืนจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 10,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) ใช้บังคับกรณีบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า แม้สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขาย และค่าเช่าซื้อเป็นค่าเช่าในการใช้ทรัพย์สินก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมิใช่ค่าเช่าซื้อ สิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ทั้งกฎหมายลักษณะเช่าก็มิได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องบังคับตามลักษระอายุความทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาต่อไป จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า ความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันควรจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกรณีที่มีระบุไว้ในสัญญาให้ต้องรับผิดเท่านั้น เมื่อในสัญญาค้ำประกันมิได้ระบุให้จำเลยต้องส่งมอบรถจักรยานยนต์คืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาแล้วจำเลยก็ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถจักรยานยนต์คืนให้โจทก์ ดังนี้เห็นว่า เมื่อเงื่อนไขตามสัญญาค้ำประกันตลอดจนคำแถลงรับของจำเลยปรากฏชัดว่า จำเลยยอมผูกพันตรเสมือนเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ตนเข้าค้ำประกันแล้ว เช่นนี้ บรรดาหน้าที่และความรับผิดใด ๆ ที่สัญญาหรือกฏหมายกำหนดไว้ จำเลยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อที่ตนเข้าค้ำประกัน ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาโจทก์ ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงชอบที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้และผู้เช่าซื้อก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีภาระต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน และเมื่อจำเลยไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องใช้ราคา จำเลยจะมาปฏิเสธความรับผิดในภายหลังโดยอ้างว่าเงื่อนไขข้อนี้ไม่ระบุไว้ในสัญญาได้ไม่ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.