คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กล่าวฟ้องใจความว่า จำเลยบังคับให้ผู้เสียหายสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ มิฉะนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องให้ได้รับโทษ เช่นนี้อาจเป็นผิดฐานกรรโชกตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.303 และประมวลกฎหมายอาญา ม.337 หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่พฤติการณ์ ของรูปคดี ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องจำเลยพูดไกล่เกลี่ย ก็ไม่ผิดฐานกรรโชก แต่ถ้าพ้นเขตของการไกล่เกลี่ยโดยเป็นไปในทางบังคับให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ ถ้าไม่ส่งจะดำเนินคดี เช่นนี้ เป็นการขู่เข็ญขืนใจโดยชัด ย่อมเป็นผิดฐานกรรโชก แม้ว่า จำเลยมีสิทธิตามกฎหมายในการจะฟ้องเรียกเงินจากผู้เสียหายก็ตาม หรือแม้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จับกุมฟ้องร้องดำเนินคดี และจำเลยบังคับผู้เสียหายเช่นกล่าวข้างต้นจนพ้นเขตของการไกล่เกลี่ย และการที่ผู้เสียหายต้องสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ก็เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะถูกขู่เข็ญขืนใจก็เป็นผิดฐานกรรโชกด้วย

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ รวมพิจารณา โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันขู่จะฟ้องนายสายเรืองลือ ให้ต้องรับโทษในข้อหาว่าฉีดยานางน้อย ภริยานายเสาร์ตาย บังคับให้นายสาย เรืองลือ สัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ มิฉะนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องให้ได้รับโทษนายสายได้มอบเงิน ๖๐๐ บาท ให้จำเลยกับพวกตามที่รับสัญญาไว้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๙๙ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๓๐๓, ๖๓ และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๖๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า นายสายกับนายเสาร์ จำเลยตกลงกันชดใช้ค่าเสียหายในการทำศพนางน้อยที่ได้ตายหลังจากนายสายฉีดยา มิใช่เป็นการขู่เข็ญบังคับนายเสาร์จำเลยยังไม่มีความผิด ส่วนจำเลยอีก ๕ คน ได้ช่วยพูดจาให้นายสายใช้เงินแก่นายเสาร์ เป็นการพูดในทางที่จะให้ตกลงประนีประนอมกัน จึงยังไม่มีความผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ยกกฎหมายลักษณะอาญา ม. ๓๐๓ และ ประมวลกฎหมายอาญา ม. ๓๓๗ ขึ้นวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันขู่จะฟ้องนายสายให้ต้องรับโทษในข้อหาว่าฉีดยานางน้อยภริยานายเสาร์ตายนั้น ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกตามฟ้อง ส่วนเงิน ๖๐๐ บาท ที่โจทก์ขอให้จำเลยให้แก่นายสายนั้น หากนายสายมีสิทธิจะได้คืนก็ควรเรียกเอาอีกเรื่องหนึ่ง จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ในปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานกรรโชคตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๓๐๓ และประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๗ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับเสมอไป อาจใช้อุบายอย่างใดที่ผู้ถูกบังคับข่มขืนใจ เกิดความกลัวยอมสัญญาจะส่งทรัพย์ให้ก็เป็นความผิด และกรณีของจำเลยกับพวกก็ครบองค์ความผิดฐานกรรโชกแล้ว
ปัญหามีว่า ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยบังคับให้นายสายสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ มิฉะนั้น จะดำเนินการฟ้องร้องให้ได้รับโทษ เช่นนี้ จะเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๓๐๓ และประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๗ หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๓๐๓ ที่บัญญัติไว้ว่า ถ้าและบังอาจบังคับผู้อื่นโดยมันใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจให้เขาสัญญาวาจะส่งทรัพย์อย่าง ใด ๆ ให้แก่ผู้ใดก็ดี ฯลฯ และตามข้อความในประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๗ ก็ดี แสดงให้เห็นว่า การบังคับให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ ถ้าไม่ส่งจะดำเนินคดีฟ้องร้องให้ได้รับโทษ อาจเป็นผิดตามตัวบทกฎหมายทั้งสองนี้หรือไม่ แล้วแต่พฤติการณ์ของรูปคดี ถ้าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นแต่พูดไกล่เกลี่ย ก็ไม่ผิดฐานกรรโชค แต่ถ้าพ้นเขตของการไกล่เกลี่ยโดยเป็นไปในทางบังคับให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ ถ้าไม่ส่งจะดำเนินคดี เช่นนี้ เป็นการเข็ญขืนใจโดยชัด ย่อมเป็นผิดฐานกรรโชก จำเลยคนซึ่งเป็นสามี มีสิทธิตามกฎหมายในการจะฟ้องร้องผู้เสียหาย จึงต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนจำเลยอื่น ๆ ก็ต้องดูว่าอยู่ในฐานะเพียงผู้ไกล่เกลี่ยหรือถึงขีดกรรโชค
แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง จึงสมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียใหม่
พิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยในข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share