คำวินิจฉัยที่ 167/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น… อันเป็นการจำกัดประเภทคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ก็เฉพาะแต่กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การคัดค้านการรังวัดของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงของที่ดินโจทก์ เพื่อระวังแนวเขตอันเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอรังวัดที่ดินของตนเพื่อการออกโฉนดที่ดิน การคัดค้านรังวัดดังกล่าวจึงเป็นเพียงการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียง มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ส่วนจำเลยทั้งสองคัดค้านว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่สาธารณะ (ที่สวนสาธารณประโยชน์ปู่ตา) กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทโดยโจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีตามคำฟ้องจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share