คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีพิพาทกันว่า ใครควรเป็นทายาทอันจะมีสิทธิรับบำนาญตกทอดของผู้ตายตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494 เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
สามีกับภรรยาคนแรกแยกจากกัน มิได้อยู่ร่วมกันฉันทก์สามีภรรยาทั่ว ๆ ไป เป็นเวลา 35-36 ปี จนกระทั่งสามีถึงแก่กรรม เมื่อภรรยาคนแรกแยกจากสามี ๆ ได้ภรรยาคนที่สองอยู่กินด้วยกันรวม 15 ปี ก็เลิกร้างกันไป แล้วสามีจึงได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยาคนที่สามและอยู่กินร่วมกันประมาณ 20 ปี จนกระทั่งสามีถึงแก่กรรม และปรากฏว่าก่อนที่สามีจะแยกทางกับภรรยาคนแรก ได้มีเรื่องขึ้งโกรธกันขึ้น โดยภรรยาคนแรกประพฤตินอกใจสามี ่จึงต้องละทิ้งสามีไปเที่ยวอาศัยคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง ต่างฝ่ายต่างขาดการติดต่อซึ่งกันและกันฉันท์สามีภรรยา จนเป็นที่เห็นว่าทั้งสองหมดเยื่อใยต่อกัน พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า สามีและภรรยาคนแรกได้สมัครในหย่าขาดจากสามีภรรยากันแล้วตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 51 แม้มิได้ทำพิธีหย่าเป็นหนังสือ ก็เป็นการใช้ได้ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/2502)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของหลวงชูวิชาการ ผู้ตาย ขอห้ามจำเลยไม่ให้เกี่ยวข้องขัดขวางโจทก์ในการรับบำนาญตกทอดของหลวงชูวิชากร
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของหลวงวิชากร โจทก์หย่าขาดกับหลวงชูวิชากรแล้ว และฟ้องแย้ง ขอให้ห้ามโจทก์รับบำนาญตกทอดของหลวงชูวิชากร
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลวงชูวิชากรกับโจทก์ยังไม่หย่าขาดจากสามีภรรยากัน การจดทะเบียน-สมรส ของจำเลยกับหลวงชูวิชากรตกเป็นโมฆะ โจทก์ผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำนาญตกทอดของหลวงชูวิชากร และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้พิพาทกันว่า ใครควรเป็นทายาทอันจะมีสิทธิรับบำนาญตกลอดของหลวงชูวิชากร ตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์และหลวงชูวิชากรเป็นสามีภรรยากันก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ อยู่กินด้วยกันชั่วระยะเวลาไม่เกิน ๑๕ – ๑๖ ปี และโจทก์กับหลวงชูวิชากร ก็แยกจากกัน มิได้อยู่ร่วมกันฉันทก์สามีภรรยาทั่วไป เป็นเวลา ๓๕ – ๓๖ ปี จนกระทั่งหลวงชูวิชากรถึงแก่กรรม หลังจากโจทก์แยกกับหลวงชูวิชากรแล้ว หลวงชูวิชากรได้ภรรยาอีกคนหนึ่ง อยู่กินกันอย่างออกหน้าออกตาเป็นเวลา ๑๕ ปี จึงเลิกร้างกันไป แล้วหลวงวิชากรได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย อยู่กินด้วยกันจนกระทั่งหลวงชูวิชากรถึงแก่กรรมเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปี ขณะโจทก์จะแยกกับหลวงวิชากรไป ได้มีเรื่องโกรธขึ้งกันขึ้น โดยโจทก์ประพฤตินอกใจหลวงชูวิชากร โจทก์จึงละทิ้งหลวงชูวิชากรไปเที่ยวอาศัยกับคนโน้นคนนี้บ้าง ต่างฝ่ายต่างขาดการติดต่อซึ่งกันและกันฉันท์สามีภรรยา จนเป็นที่รู้กันว่า ทั้งสองหมดเยื่อใยต่อกัน ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า พฤติการณ์ระหว่างโจทก์กับหลวงชูวิชากร ได้สมัครใจหย่าขาดจากสามีภรรยากันแล้ว ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ๕๑ แม้จะมิได้ทำพิธีหย่าเป็นหนังสือ ก็เป็นการใช้ได้ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย และฟังได้ว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับหลวงชูวิชากรสมบูรณ์แล้วทุกประการ
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และห้ามโจทก์ขัดขวางจำเลยในการขอรับบำนาญของหลวงชูวิชากร

Share