คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายจราจร “หยุด” ตามข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องสัญญาณจราจรฯ ข้อ 8(1) ที่ออกตามความในมาตรา 21 แห่ง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่าหมายความว่ารถทุกชนิดต้องหยุดให้รถและคนเดินทางเท้าในทางขวางหน้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณทางแยกนั้นแล้วจึงให้เคลื่อนรถต่อไปด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นเมื่อตรงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุในทางเดินรถของจำเลยที่ 1 มีเครื่องหมายจราจร”หยุด” ปักอยู่ข้างถนนแต่จำเลยที่ 1 ไม่หยุดรถยนต์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยหรือหยุดรอให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาในทางขวางหน้าที่ไม่มีเครื่องหมายจราจร “หยุด” ผ่านไปก่อน เมื่อรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับตรงบริเวณสี่แยกดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท พยานโจทก์อยู่ในวิสัยที่จะเบิกความระบุชื่อปรักปรำจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ชั้นสอบสวนหรือในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่พยานโจทก์เพียงเบิกความเป็นกลาง ๆ ว่าเห็นชาย 1 คนหญิง 1 คนลงจากรถยนต์คันเกิดเหตุหลบหนีไปย่อมบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่าพยานโจทก์เบิกความด้วยความสัตย์จริงตามที่เห็นเหตุการณ์เมื่อนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุและจำเลยที่ 2 เคยมอบเงินจำนวน 1,000 บาท ให้แก่ ศ. มาแล้ว มีเหตุให้เชื่อได้ว่าชายคนที่ลงจากรถยนต์คันเกิดเหตุคือจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน7ย-4036 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองและเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวและได้ร่วมนั่งมาด้วย โดยประมาทและฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร ตัดหน้ารถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฉะเชิงเทรา ข-0583 ซึ่งมีนายมนตรี โคพระ เป็นผู้ขับและมีนายศรีเดช วัฒนศฤงคาร นั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกัน ทำให้รถจักรยานยนต์ล้มคว่ำและเป็นเหตุให้นายมนตรีถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 184,632 บาท และดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุขณะเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ และในเวลาเกิดเหตุไม่ได้นั่งไปในรถยนต์คันนั้นด้วยเหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากนายมนตรี โคพระ เป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทแต่ฝ่ายเดียว โจทก์เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย184,632 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 180,632 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน87,632 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 5สิงหาคม 2530 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทของนายมนตรี โคพระผู้ตายเพียงฝ่ายเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้เถียงว่าตรงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุในทางเดินรถที่จำเลยที่ 1ขับรถยนต์กระบะไป และก่อนจะถึงสี่แยกไม่มีเครื่องหมายจราจรที่มีข้อความว่า “หยุด” ปักอยู่ข้างถนน ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า มีเครื่องหมายจราจร “หยุด” ปักอยู่จริง ซึ่งเครื่องหมายจราจรดังกล่าวตามข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องสัญญาณจราจรเครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรข้อ 8(1) ที่ออกตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 ระบุว่า หมายความว่า รถทุกชนิดต้องหยุดให้รถและคนเดินเท้าในทางขวางหน้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณทางแยกนั้นแล้ว จึงให้เคลื่อนรถต่อไปด้วยความระมัดระวังข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายศรีเดช วัฒนศฤงคาร ประจักษ์พยานโจทก์ผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับมาในขณะเกิดเหตุว่าก่อนเกิดเหตุพยานเห็นรถยนต์กระบะคันที่ชนกับรถจักรยานยนต์คันที่พยานนั่งซ้อนท้ายไปแล่นมาจากถนนบางบ่อ เห็นครั้งแรกรถยนต์กระบะคันดังกล่าวอยู่ห่างถนนใหญ่ซึ่งหมายถึงห่างถนนทางเดินรถที่ผู้ตายกำลังขับรถจักรยานยนต์ไปประมาณ 2 เส้น เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุก็เกิดชนกันขึ้นจากคำเบิกความของนายศรีเดชแสดงว่าก่อนที่รถทั้งสองคันจะชนกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้หยุดหรือชะลอรถ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของทางข้างหน้าบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าในทางเดินรถที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มามีเครื่องหมายจราจรบังคับให้หยุดเหมือนทางเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะมา ก็แสดงว่าเจ้าพนักงานจราจรต้องการให้ยานพาหนะในทางเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะผ่านมาซึ่งเป็นทางร่วมทางแยกต้องหยุดให้รถในทางขวางหน้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณทางแยกนั้นแล้ว จึงจะเคลื่อนรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวังแต่จำเลยที่ 1 ไม่หยุดรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยหรือหยุดรอให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุไปเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร ขับรถยนต์กระบะโดยไม่ใยดีว่าทางข้างหน้าตรงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น เมื่อรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับแล่นไปชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับตรงบริเวณสี่แยกดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายดังที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2ไม่ได้นั่งหรือโดยสารไปในรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายศรีเดชประจักษ์พยานโจทก์ และนายแววมังกรแก้ว พยานแวดล้อมผู้มีบ้านอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุและเป็นผู้ไปถึงที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุเพียง 5 นาทีว่า หลังเกิดเหตุพยานทั้งสองเห็นชายคนหนึ่งกับหญิงอีกหนึ่งคน ลงจากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุหลบหนีไป และนายศรีเดชยังเบิกความว่า ต่อมาพยานทราบว่าชายคนที่ลงจากรถยนต์กระบะในวันนั้น คือสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางคล้าหรือจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พยานเป็นเงิน 1,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าพยานทั้งสองไม่ได้ระบุเจาะจงว่าชายและหญิงที่ลงจากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุในวันนั้นเป็นใคร พยานเพียงแต่เบิกความเป็นกลาง ๆ ว่าบุคคลที่ลงจากรถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า หลังเกิดเหตุในวันนั้น พยานโจทก์ทั้งสองเห็นชายและหญิงรวม 2คนลงจากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุหลบหนีไปดังที่พยานทั้งสองเบิกความเพราะถ้าจะฟังว่าพยานโจทก์ทั้งสองแกล้งเบิกความเพื่อต้องการจะปรักปรำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะเบิกความระบุชื่อปรักปรำจำเลยทั้งสองได้ก็น่าจะระบุชื่อจำเลยทั้งสองเสียตั้งแต่ในชั้นสอบสวนหรือในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองไม่ระบุชื่อชายและหญิงที่ลงจากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุแล้วหลบหนีไปว่าเป็นจำเลยทั้งสองย่อมบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความด้วยความสัตย์จริงตามที่พยานได้รู้เห็นเหตุการณ์ เมื่อนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชาย 1 คนและหญิง 1 คน ที่ลงจากรถยนต์กระบะหลบหนีไปดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุและการที่จำเลยที่ 2 เคยมอบเงินจำนวน 1,000 บาท ให้แก่นายศรีเดชมาแล้วมีเหตุให้เชื่อได้ว่าชายคนที่ลงจากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุในวันนั้นคือจำเลยที่ 2 เพราะถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ได้นั่งหรือโดยสารไปในรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุในวันนั้นด้วย จำเลยที่ 2ก็ไม่น่าจะต้องยอมชดใช้เงินจำนวน 1,000 บาท ให้แก่นายศรีเดชดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าให้เงินจำนวนดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 2 เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเกี่ยวข้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ จึงมีจิตเมตตาช่วยเหลือนายศรีเดชที่ได้รับบาดเจ็บนั้นจำเลยที่ 2เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้นั่งหรือโดยสารไปในรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share