แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง
แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสนั้นให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่แบ่งหรือแบ่งไม่ได้ ให้จำเลยชดใช้ราคาสินสมรสเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 80,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันเมื่อปี 2538 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายศรเทพ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ตามสำเนาสูติบัตร วันที่ 7 มีนาคม 2543 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส โจทก์และจำเลยประกอบอาชีพขายรถยนต์มือสอง มีทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสร่วมกันและเป็นหนี้ร่วมจากการกู้เงินธนาคารเพื่อใช้ประกอบกิจการร่วมกันด้วยที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องรวม 16 โฉนด เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ยกเว้นที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โดยที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสำเนาหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 โจทก์ฟ้องจำเลยและนางสาวหรือนางพัชมณฑ์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลย (ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1) ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู และให้ร่วมกับนางสาวพัชมณฑ์ (ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2) ชำระค่าทดแทนเนื่องจากมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 876/2551 จำเลยและนางสาวพัชมณฑ์ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง วันที่ 18 กันยายน 2551 โจทก์ถอนฟ้องนางสาวพัชมณฑ์และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและพิพากษาตามยอม ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา และสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1847/2551 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 โจทก์ได้ฟ้องนายศุภโชคหรือศุภชัยหรือวรโชติหรือเฉลิมโชคหรือเฉลิมชัย กับพวกรวม 5 คน ให้คืนสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่จำเลยโอนให้แก่นายศุภโชคกับพวกรวม 5 คน โดยโจทก์ไม่ยินยอมต่อศาลจังหวัดนนทบุรีตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 768/2551 นายศุภโชคกับพวกรวม 5 คน ให้การต่อสู้คดี ตามสำเนาคำให้การ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 768/2551 ศาลจังหวัดนนทบุรีอนุญาตวันที่ 9 สิงหาคม 2553 จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องโจทก์ ตามสำเนาคำร้องขอให้เรียกจำเลยเข้าเป็นคู่ความร่วม และสำเนาคำให้การ ศาลจังหวัดนนทบุรีเรียกจำเลยเป็นจำเลยที่ 6 และส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 768/2551 อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรีหรือของศาลชั้นต้น ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ระหว่างรอคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่458/2553 จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ตามสำเนาคำให้การ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดโดยคู่ความไม่ฎีกา วันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่ายักยอกเงินฝากในธนาคารซึ่งเป็นสินสมรสต่อศาลแขวงนนทบุรี ตามสำเนาคำฟ้อง ศาลแขวงนนทบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลแขวงนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาบันทึกคำพิพากษาด้วยวาจาลงวันที่ 22 มีนาคม 2554 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1229/2553 หมายเลขแดงที่ 546/2554 วันที่ 22 ตุลาคม 2553 ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 768/2551 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น และได้ส่งคำวินิจฉัยให้ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ตามสำเนาคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาและรายงานการอ่านคำวินิจฉัยให้คู่ความฟัง ศาลจังหวัดนนทบุรีโอนคดีมายังศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 147/2554 วันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลย (ซึ่งเป็นจำเลยที่ 6) และนายศุภชัยกับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2555 กับสำเนารายงานกระบวนพิจารณา โดยสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ข้อ 1. จำเลยที่ 6 (จำเลยคดีนี้) ตกลงชำระเงินจำนวน 10,400,000 บาท (สิบล้านสี่แสนบาทถ้วน) ให้แก่โจทก์ โดยจะชำระเป็นแคชเชียร์เช็คของธนาคารพาณิชย์และเงินสดบางส่วนในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ซึ่งโจทก์ได้รับแคชเชียร์เช็คดังกล่าวและเงินสดจากจำเลยที่ 6 ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วในวันนี้ ข้อ 2. จำเลยที่ 6 ตกลงยกกรรมสิทธิ์รถยนต์โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน สส 7004 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 6 จะไปจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ข้อ 3. บ้านและที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 26628 เลขที่ดิน 136 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี บ้านเลขที่ 199/10 หมู่ที่ 3 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 6 และโจทก์ได้นำไปจำนองไว้แก่ธนาคารแอล เอช แบงค์ ซึ่งมีหนี้ค้างอยู่ 3,941,794.74 บาท โจทก์ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ผู้เดียวนับแต่วันทำสัญญายอมฉบับนี้ หากโจทก์ไม่ผ่อนชำระหนี้ค่าบ้านจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ต้องถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีจากธนาคารอันเนื่องมาจากหนี้ค่าบ้านดังกล่าว โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 6 ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากโจทก์ได้ตามจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดชอบเมื่อผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนตามกำหนดชำระหนี้ของธนาคารเจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลา 27 ปีแล้ว จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของตนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 6 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 6 ข้อ 4. โจทก์และจำเลยที่ 6 ตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ข้อ 5. โจทก์ยินยอมส่งมอบโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของโจทก์จำนวน 5 โฉนด ได้แก่ 5.1 โฉนดเลขที่ 26326 เลขที่ 416 หน้าสำรวจ 801 ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 5.2 โฉนดเลขที่ 21262 เลขที่ดิน 1395 หน้าสำรวจ 123 ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 5.3 โฉนดเลขที่ 28802 เลขที่ 139 หน้าสำรวจ 2661 ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 5.4 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1078 เลขที่ดิน 248 หน้าสำรวจ ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 5.5 โฉนดเลขที่ 104586 เลขที่ดิน 100 หน้าสำรวจ 17216 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่โจทก์ (ที่ถูกจำเลยที่ 6) และหากมีโฉนดที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่มีชื่อจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ในความครอบครองของโจทก์อีก โจทก์ตกลงคืนให้จำเลยที่ 6 ทั้งหมด ข้อ 6. โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินตามฟ้องในคดีนี้และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกอีกต่อไป ข้อ 7. ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ ข้อ 8. โจทก์ จำเลยทั้งหกตกลงยินยอมตามข้อ 1. ถึงข้อ 7. หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้อีกฝ่ายบังคับคดีได้ทันที ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมจำเลยได้มอบแคชเชียร์เช็ค 7 ฉบับ เป็นเงิน 10,300,000 บาท กับเงินสด 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ ตามสำเนาแคชเชียร์เช็ค และหนังสือการรับเงินสด ปรากฏว่าโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่ากับจำเลยและโจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมชำระหนี้ตามข้อ 3. จึงถูกธนาคารมีหนังสือทวงถามให้โจทก์และจำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 19 กันยายน 2555 วันที่ 9 เมษายน 2556 จำเลยนำสำเนาคำพิพากษาตามยอมไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าว ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 147/2554 หมายเลขแดงที่ 14/2555 ของศาลชั้นต้น คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากนี้โจทก์อุทธรณ์ขอให้แบ่งที่ดินตามฟ้องเฉพาะที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน รวม 16 แปลง ส่วนทรัพย์สินอื่นโจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ดังนั้นในส่วนทรัพย์สินอื่นจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป” และวรรคสองบัญญัติว่า “การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว” ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2555 ปรากฏข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4. ว่า “โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ดังนั้น การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ตามมาตรา 1531 วรรคสอง โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น อนึ่ง แม้ตามข้อตกลงจะระบุว่าให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ก็ได้ความว่า ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีเช่นนี้ โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนการหย่าได้ ซึ่งการนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนการหย่านี้หาจำต้องไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีแต่เพียงแห่งเดียวไม่ เพราะตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่าในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่าสำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 จึงถูกต้องเช่นกัน การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์ ฎีกาของโจทก์ประการแรกฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2555 เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์สามารถบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 หรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่าง คู่ความก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้วมีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย (ซึ่งเป็นจำเลยที่ 6 ในคดี) การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์และจำเลย จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยตามมาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14/2555 ฎีกาของโจทก์ประการที่สองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ