แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ไม่มีความประสงค์จะลงโทษพระภิกษุในทางอาณาจักรอย่างใดเลย พระภิกษุเข้าอยู่ในวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาส และขัดขืนไม่ยอมออกจากวัดตามคำสั่งเจ้าอาวาส ไม่มีความผิดทางอาญา เมื่อปรากฎว่าเจ้าอาวาสมิใช่ผู้ได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉนั้นการขัดขืนคำสั่งไม่เป็นผิดฐานขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบรรพชิตบังอาจสมคบกันเข้าพักอาศัยอยู่ในวัดลำดวนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสซึ่งได้ห้ามปราบแล้ว ครั้นเจ้าอาวาสได้มีคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยออกจากวัด จำเลยรับทราบแล้วยังขัดขืนไม่ยอมออกตามกำหนด ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีผิดฐานขัดคำสั่ง เจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาลงโทษตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ (๒) ให้ปรับจำเลยที่ ๑ ๕๐ บาท จำเลยที่ ๒ และ ๓ คนละ ๑๒ บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ นั้นไม่เกี่ยวข้องแก่คดีนี้อย่างไรเลย เพราะความประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้ไม่ประสงค์ให้ลงโทษพระภิกษุในทางอาณาจักร ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๒/๒๔๗๒ ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๔,๕๗ นั้นก็เป็นแต่บทห้าม แต่ไม่มีบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้ ตามกฎหมายอาณามาตรา ๗ ที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ (๒) นั้น ก็มีความสำคัญอยู่ที่คำว่า “คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย” กับคำว่าเจ้าพนักงาน ตามที่ได้ความในคดีนี้ไม่ปรากฎว่าเจ้าอาวาสวัดลำดวนได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กลับปรากฏว่าได้เป็นมาแต่ก่อนใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เสียอีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนี้แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงว่าคำสั่งของเจ้าอาวาสจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยแต่อย่างใด จึงพิพากษายืน