แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมาตรา 87(2) บัญญัติวางหลักเบื้องต้นของกฎหมายไว้ ก็เพื่อให้คู่ความแต่ละฝ่ายมีโอกาสทราบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะอ้างพยานหลักฐานใดบ้าง ป้องกันไม่ให้เกิดการจู่โจมทางพยาน จึงเป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมการที่จำเลยมิได้ปฏิบัติเช่นนั้นและศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดขอก็ตาม สำหรับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ต้องเสียหายเป็นผู้ยกขึ้นอ้าง จึงจะตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคสอง ดังนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองจึงไม่เกี่ยวกับกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจ เมื่อจำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ทั้งจำเลยทั้งสามมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อผิดหลงของจำเลยทั้งสามขอให้ศาลรับบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสุดท้าย หรือขอให้ศาลสืบพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ตามมาตรา 87(2) ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองจำนวน 532,636.44 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 484,697.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 22 มิถุนายน 2541 จำเลยทั้งสามไม่มาศาลศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณากับพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวหลังจากนั้นมีการเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 วันที่ 15กันยายน 2541 และนัดสืบพยานโจทก์จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โดยในวันที่ 7กันยายน 2541 ทนายจำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า การสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสามเป็นการสั่งโดยผิดหลงจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับบัญชีระบุพยานนั้น และสั่งใหม่เป็นไม่รับบัญชีระบุพยานดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสามแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 484,697.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 47,938.61บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5154 ตำบลบ้านใต้อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541มาตรา 7 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์อันเป็นวันเริ่มต้นสืบพยานครั้งแรกในคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2541 จำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานและศาลมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานดังกล่าววันที่ 7 กันยายน 2541ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 ศาลชั้นต้นสั่งว่า การสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นการสั่งโดยผิดหลง ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับบัญชีระบุพยานเป็นไม่รับบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสาม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และมาตรา 87(2) บัญญัติว่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 การที่กฎหมายบัญญัติวางหลักเบื้องต้นไว้เช่นนี้ ก็เพื่อให้คู่ความแต่ละฝ่ายมีโอกาสทราบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะอ้างพยานหลักฐานใดบ้าง ป้องกันไม่ให้เกิดการจู่โจมทางพยานจึงเป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติเช่นนั้นและศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจของศาลเองสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตามมาตรา 27วรรคหนึ่ง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดขอก็ตาม สำหรับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ต้องเสียหายเป็นผู้ยกขึ้นอ้าง จึงจะตกอยู่ในบังคับมาตรา 27 วรรคสอง ว่าจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่เกินแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ ดังนั้น มาตรา 27 วรรคสอง ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจของศาลเองดังเช่นคดีนี้ เมื่อจำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่งทั้งจำเลยทั้งสามมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อผิดหลงของจำเลยทั้งสามขอให้ศาลรับบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88 วรรคสุดท้าย หรือขอให้ศาลสืบพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่งตามมาตรา 87(2) การเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน