คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์จากการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะในระดับหนึ่งโดยมิใช่เป็นการลอกเลียนงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จัดทำเอกสารเพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยลอกเลียนมาจากแคตตาล็อกของบริษัท พ. ทั้งหมด เพียงจัดเรียงองค์ประกอบให้สวยงามขึ้นเท่านั้นโจทก์มิได้ใช้ความริเริ่มของตนเองเพียงพอจนเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดงานรวบรวมขึ้นจึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ ดังนั้น แม้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำแคตตาล็อกมาจัดทำเป็นส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการเสนอราคาของจำเลยต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน โดยที่บริษัท พ. ไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้เพราะจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท พ. ซึ่งหากเป็นการไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท พ. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 บริษัทพี.ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษและประเทศอื่นทั่วโลก จึงได้จัดทำแคตตาล็อกแสดงภาพถ่ายและข้อมูลของสินค้าซึ่งมีข้อความอธิบายคุณสมบัติข้อกำหนดพิเศษของสินค้า พร้อมดัชนีค้นหาออกเผยแพร่และโฆษณาเพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย โดยโฆษณาครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบิร์น ว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม และความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และต่อมาได้โฆษณาเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยแคตตาล็อกดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และอนุญาตให้โจทก์ใช้เอกสารที่เป็นหนังสือในรูปลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงแคตตาล็อกและข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์ได้ยื่นซองเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดพร้อมอุปกรณ์เก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจัดทำเอกสารประกอบการเสนอราคา แสดงคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าดังกล่าว โดยได้รับอนุญาตจากบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู.อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด ในการจัดทำเอกสารโจทก์ได้บรรยายถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะของสินค้าในส่วนที่เป็นภาพสีและรายละเอียดของสินค้าโดยใช้เครื่องสแกนเนอร์สแกนภาพสีและคำบรรยายภาษาอังกฤษบางส่วนจากแคตตาล็อกสินค้าของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัดมารวบรวมโดยคัดเลือกและจัดลำดับไว้เป็นหมวดหมู่ ตามประเภทของสินค้าในลักษณะที่มิได้เป็นการลอกเลียนผู้ใด โจทก์มีลิขสิทธิ์ในเอกสารประกอบการเสนอราคา โดยถือเป็นงานรวบรวมตามความหมายของมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2544 จำเลยทั้งสองคัดลอกและทำซ้ำภาพถ่ายและ/หรือข้อความจากเอกสารประกอบการเสนอราคาของโจทก์และจากแคตตาล็อกของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด ต่อมาจำเลยนำเอกสารที่จัดทำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปยื่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยจำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า เอกสารประกอบการเสนอราคาของจำเลยทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ได้นำเอกสารนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 8, 12,15, 27, 31, 61, 69, 70, 74, 75 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้สิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ ให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ และริบสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า เอกสารหมาย จ.10 ซึ่งเป็นเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยคัดลอกหรือทำซ้ำตามเอกสารหมาย จ.15 เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานรวบรวมตามเอกสารหมาย จ.10 นั้น จะต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาตามส่วนที่ 2 ว่าด้วยการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ในการที่โจทก์จัดทำเอกสารหมาย จ.10 นั้น จากคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์ เชาวกุล พยานของโจทก์ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายโจทก์ถามติงว่า “…ข้อความและข้อมูลของเอกสารหมาย จ.10 นั้น ข้าฯ ได้นำมาจากเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นแคตตาล็อกของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด การจัดทำนั้น ข้าฯ ได้ใช้คอมพิวเตอร์นำภาพจากเอกสารหมาย จ.3 มาและได้มีการพิมพ์ข้อความขึ้นใหม่โดยใช้ข้อความจากเอกสารหมาย จ.3 โดยข้าฯ ได้จัดทำเอกสารหมาย จ.10 ขึ้นโดยการจัดเรียงหมวดหมู่สินค้าให้ตรงตามประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกิดความสับสน การจัดเรียงตัวอักษรในเอกสารหมาย จ.10 นั้นจะแตกต่างจากเอกสารหมาย จ.3 เนื่องจากข้าฯ จัดเรียงองค์ประกอบให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น…” อันแสดงว่าเอกสารหมาย จ.10 ที่โจทก์จัดทำขึ้นนั้นเป็นแต่เพียงโจทก์นำภาพและข้อความมาจากแคตตาล็อกตามเอกสารหมาย จ.3 ที่บริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อโฆษณาสินค้าของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด มาจัดเรียงขึ้นใหม่ให้สวยงามเพื่อสะดวกแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการพิจารณาตามงบเสนอราคาของโจทก์เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า “งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใด… มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน หากผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันซึ่งงานดังกล่าวขึ้น โดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์จากการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน ต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะในระดับหนึ่งโดยมิใช่มีลักษณะเป็นการลอกเลียนงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่การที่โจทก์จัดทำเอกสารหมาย จ.10 ในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำซ้ำงานตามเอกสารหมาย จ.10 ของโจทก์ตามตารางเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.15นั้น โจทก์ลอกเลียนมาจากแคตตาล็อกเอกสารหมาย จ.3 ทั้งหมด มิได้มีส่วนใดที่จะถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหรือก่อขึ้นอันมีลักษณะสร้างสรรค์งานใหม่เลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้คัดเลือกและจัดลำดับภาพงานลิขสิทธิ์ของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัดใหม่นั้น ก็ได้ความว่าเป็นการจัดเรียงองค์ประกอบให้สวยงามขึ้นเท่านั้น จึงเป็นการปรับปรุงจากงานเดิมเพียงเล็กน้อย ยังไม่พอฟังว่า โจทก์ได้ใช้ความริเริ่มของตนเองเพียงพอจนเป็นส่วนสำคัญก่อให้เกิดงานรวบรวมขึ้น นอกจากนี้นายชัยสิทธิ์พยานโจทก์เบิกความยอมรับว่านอกจากโจทก์จะมีแคตตาล็อกเอกสารหมาย จ.3 แล้ว บุคคลภายนอกยังมีไว้ในครอบครองด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะเป็นแคตตาล็อกโฆษณาสินค้าของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด ประกอบกับในการที่โจทก์จัดทำเอกสารหมาย จ.10 เพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายชัยสิทธิ์พยานโจทก์เบิกความว่าทำเป็นความลับ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจำเลยทั้งสองก็เป็นผู้ที่เสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน การที่เอกสารหมาย จ.12 ของจำเลยมีรายการตรงกันกับเอกสารหมาย จ.10 ของโจทก์ในหน้าต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้น ก็อาจจะเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นโดยไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.10 ของโจทก์ เพราะเอกสารหมาย จ.10 เป็นความลับ ทั้งนายชัยสิทธิ์ยังเบิกความอีกว่าผู้เสนอราคาต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นเจ้าของสินค้าที่เสนอราคา ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะนำเอกสารหมาย จ.3 มาจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารหมาย จ.12 โดยที่บริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด ไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้เพราะจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งหากเป็นการไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทพี. ดับเบิ้ลยู. อัลเล็น แอนด์ โค จำกัด โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ลิขสิทธิ์งานรวบรวมในเอกสารหมาย จ.10 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดแล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share