แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตาม น.ส. 3 รวม 12 แปลง เป็นของโจทก์และขับไล่จำเลย และบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ส่งมอบที่ดิน 12 แปลงแก่โจทก์ตามคำพิพากษา หลังจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่หลายร้อยไร่และยังมีปัญหาโต้แย้งแนวเขต ที่ดินกับจำเลย จะมีปัญหาในการบังคับคดี ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้น เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังโต้แย้งในเนื้อที่ดินพิพาท จึงให้นัดไต่สวน ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบางส่วนแล้วศาลชั้นต้น มีคำสั่งงดการไต่สวนโดยวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหาก ถ้าการบังคับคดีเป็นที่เสียหายแก่จำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งเช่นนั้นได้
เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จลงเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบที่ดิน น.ส. ๓ รวม ๑๒ แปลง มีเนื้อที่รวม ๕๙๕ ไร่ ๓ งาน ๑๗ ตารางวา คืนแก่โจทก์ และขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชำระค่าเสียหาย คดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) รวม ๑๒ แปลง เป็นของโจทก์และ ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ส่งมอบที่ดิน ๑๒ แปลง แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอบังคับคดี หลังจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วโจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่หลายร้อยไร่และยังมีปัญหาโต้แย้งแนวเขตที่ดินกับจำเลย จะมีปัญหาในการบังคับคดี ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาท เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้มีการรังวัดและทำแผนที่พิพาทจนแล้วเสร็จและให้คู่ความตรวจสอบ โจทก์แถลงว่าที่ดินพิพาททั้งหมดมีเนื้อที่ ๕๑๖ ไร่ ๘๖ ตารางวา แต่จำเลยแถลงว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ ๑๗๙ ไร่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์และจำเลยยังโต้แย้งในเนื้อที่ดินพิพาทกันอยู่จึงให้นัดไต่สวน
ระหว่างไต่สวน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้คำพิพากษาถึงที่สุดโดยพิพากษาว่า ที่ดินพิพาท ๑๒ แปลง เป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินพิพาททั้งสิบสองแปลงได้ หากโจทก์นำยึดที่ดินทับหรือเกินไปในที่ดินของผู้อื่นหรือจำเลย บุคคลภายนอกหรือจำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งหรือร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เป็นคดีพิพาทต่างหากจึงงดไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว ให้บังคับคดีต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ต่อมาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับหรืองดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวโดยอ้างว่าจำเลยยังโต้แย้งจำนวนเนื้อที่ที่ดินพิพาทจำนวน ๓๓๗ ไร่ หากโจทก์เข้าครอบครองจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุด ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วอยู่ในระหว่างบังคับคดี ไม่มีกฎหมายให้สิทธิจำเลยทุเลาการบังคับ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ต่อมาวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน ๑๒ แปลง เป็นเนื้อที่ ๕๑๖ ไร่เศษ เป็นการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ๓๓๗ ไร่ จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว ๑๗๙ ไร่ การบังคับคดีไม่ชอบ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการส่งมอบที่ดิน ๓๓๗ ไร่ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ส่งมอบให้โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องของจำเลยเป็นข้อโต้แย้งในรายละเอียดของการบังคับคดี ทั้งไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนการบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฉบับแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ที่พิพาทรวม ๑๒ แปลง เนื้อที่รวม ๕๙๕ ไร่ ๓ งาน ๑๗ ตารางวา ขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินจำนวนเนื้อที่ดังกล่าวให้แก่โจทก์และขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจาก ที่ดินพิพาทกับให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสิบสองแปลง ขอให้โจทก์โอนสิทธิทางทะเบียน น.ส. ๓ ทั้งสิบสองแปลงให้จำเลยโดยปราศจากภาระติดพัน ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตาม น.ส. ๓ รวม ๑๒ แปลง เป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ เป็นต้นไป จนกว่าจำเลย จะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ และให้ยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะจำนวนค่าเสียหายโดยให้จำเลยชำระค่าเสียหายปีละ ๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยสามารถรื้อ สิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ในการกรีดยางทำยางพาราออกจากที่ดินพิพาทได้หรือไม่ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ โจทก์ยินยอม ให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์ดังกล่าวได้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ครั้นถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำเลยแถลงว่าได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราว ต่อมามีการส่งมอบที่ดินพิพาทกันซึ่งโจทก์รับมอบแล้ว แต่โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทไม่ครบ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตะกั่วทุ่งทำแผนที่พิพาทแต่เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตะกั่วทุ่งไม่อาจจัดทำแผนที่พิพาทได้เนื่องจากไม่มีเครื่องมือทันสมัย วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงาจัดทำแผนที่พิพาทแทน เมื่อเจ้าพนักงาน ที่ดินจังหวัดพังงาจัดทำแผนที่พิพาทเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อรับรองแผนที่พิพาทในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ถึงวันนัด โจทก์แถลงว่าที่ดินพิพาทอยู่ในกรอบเส้นสีดำหมายสีแดงทั้งหมด เนื้อที่ ๕๑๖ ไร่ ๘๖ ตารางวา จำเลยนำชี้ไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยแถลงว่าพื้นที่ภายในกรอบเส้นดำหมายสีเขียวมีจำนวนเนื้อที่ ๓๓๗ ไร่ ๑ งาน ๗๑ ตารางวา อยู่นอกเขตที่ดินพิพาท โจทก์นำชี้ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ไต่สวน เมื่อได้ไต่สวนพยานโจทก์ไปบางส่วนแล้ว มีคำสั่งนัดพร้อม เพื่อไกล่เกลี่ย วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นได้ไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้จึงมีคำสั่งว่าคดีนี้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วและอยู่ระหว่างการบังคับคดี ต่อมาศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวตามคำขอของจำเลย และโจทก์จำเลยพิพาทเรื่องเนื้อที่ดินเพราะนำชี้จำนวนเนื้อที่แตกต่างกัน และเห็นว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตาม น.ส. ๓ รวม ๑๒ แปลง เป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ ดังนั้นในชั้นบังคับคดีโจทก์ย่อมมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปนำยึดที่ดินพิพาททั้งสิบสองแปลงได้ และหากการนำยึดที่ดินของโจทก์ไปทับที่ดินของจำเลยนอกเหนือที่ดินพิพาทหรือที่ดินของบุคคลภายนอกแปลงใด จำเลยหรือบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์หรือโต้แย้งสิทธิได้ ซึ่งจะเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ไม่มีเหตุที่จะไต่สวนตามคำร้องของจำเลยอีกต่อไป จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว และงดไต่สวนให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีต่อไป วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกเลิกคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวและงดไต่สวน แล้วขอให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวและ ให้ไต่สวนต่อไป ต่อมาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ยกเลิกคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวและงดไต่สวน พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ทุเลาการบังคับหรืองดการบังคับคดีศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ โดยสั่งว่าเนื่องจากจำเลยอุทธรณ์คำสั่งแล้ว และศาลมี คำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำร้องฉบับนี้อีกต่อไป และให้ยกคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้สิทธิจำเลยขอทุเลาการบังคับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้อง ขอทุเลาการบังคับโดยขอให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ต่อมาวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการส่งมอบที่ดินตามแผนที่พิพาทจำนวนเนื้อที่ ๓๓๗ ไร่ ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ทำการส่งมอบให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๑ เนื่องจากที่ดินจำนวน ๓๓๗ ไร่ ดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์มาเป็นเวลา ๒๐ ปี แล้ว และไม่ใช่ที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๔๑ ถึง ๑๔๓, ๒๑๖ ถึง ๒๑๙, ๒๒๓, ๒๓๐ ถึง ๒๓๓ ทั้งสิบสองแปลง ซึ่งจำเลยโต้แย้งคัดค้านไว้ การบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในเรื่องนี้ว่าตามคำร้องของจำเลยเป็นข้อโต้แย้งในรายละเอียดของการบังคับคดี ทั้งไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุจะสั่งเพิกถอนการบังคับคดี ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่า ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนจึงไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องและยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการใดโดยเฉพาะต่อไป
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นให้ยกเลิกคำสั่งงดการบังคับไว้ชั่วคราว งดไต่สวน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๐ ให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว และวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่ง หลังจากนั้นศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีชั่วคราวอีก ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวในเวลาต่อมาจึงซ้ำซ้อนกับคำสั่งเดิมที่ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราวแล้ว คำสั่งดังกล่าวแม้จะซ้ำซ้อนกับคำสั่งเดิม แต่ก็ไม่มีผลเป็นการให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งอื่นใด นอกเหนือจากการเพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราวที่ได้มีคำสั่งไปแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้กระทบต่อความยุติธรรมหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือกระทบต่อสิทธิของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่โต้แย้งให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ส่วนเรื่องการไต่สวนนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลย โต้แย้งกันในเรื่องจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยส่งมอบและโจทก์จำเลยต่างนำชี้เนื้อที่ดินไม่ตรงกัน จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนนั้นถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจให้ไต่สวนโดยมิได้ใช้อำนาจงดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๒ (๒) เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนโดยสืบพยานโจทก์ไปบางส่วนแล้วศาลชั้นต้น มีคำสั่งงดการไต่สวนโดยวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหาก ถ้าการบังคับคดีเป็นที่เสียหายแก่จำเลยนั้น เห็นว่าเป็นอำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งเช่นนั้นได้ ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไต่สวน คำสั่งของศาลจึงชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ ชอบหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบการครอบครองที่ดินตามแผนที่พิพาทจำนวนเนื้อที่ ๕๑๖ ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์นำชี้ขึ้นเอง โดยจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินตามแผนที่พิพาทจำนวน ๓๓๗ ไร่ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ทำการส่งมอบนั้นเป็นที่ดินของจำเลยอยู่นอกเขต น.ส. ๓ ทั้งสิบสองแปลง การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวน แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยไม่ได้ไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสาม ก่อน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสองและวรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใด ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธี การบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจจะกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า สิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการ อันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัย ชี้ขาดคดีก็ได้” แต่ตามคำร้องของจำเลยข้อเท็จจริงปรากฏว่า การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามบทบัญญัติมาตรา ๒๙๖ วรรคสองและวรรคสาม เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษา ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.