คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6908/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเดิม คำให้การ และฟ้องแย้งกับคำให้การแก้ฟ้องแย้ง มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่าฝ่ายใดเป็นฝ่าย ผิดสัญญาการโอนหุ้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาการโอนหุ้น พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเดิมจำนวน 316,489 บาท พร้อมดอกเบี้ยและยกฟ้องแย้งจำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้โจทก์ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้ง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฟ้องแย้ง เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 คงวินิจฉัยเฉพาะฟ้องเดิมว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาการโอนหุ้นไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้น จากจำเลยตามฟ้องรวมทั้งไม่อาจยึดถือเงินค่าหุ้นที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ตามฟ้องแย้ง จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนที่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนหุ้นของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกัน ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนหุ้น ดังนั้น โจทก์ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่ได้รับให้แก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยรวมจำนวน ๓๑๕,๔๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้เงินจำนวน ๒๑๕,๔๙๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๑๖,๔๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้รวม ๔,๐๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบโดยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ โจทก์ จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นเข้าหุ้นกันก่อตั้งบริษัทณัชปภา จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการร้านอาหาร โจทก์ถือหุ้นจำนวน ๒,๕๐๐ หุ้น จำเลยถือหุ้นจำนวน ๓,๐๐๐ หุ้น ต่อมาโจทก์ตกลงขายหุ้นของโจทก์ทั้งหมดให้แก่จำเลยในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงว่า โจทก์ต้องลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้จำเลยภายใน ๗ วัน นับแต่วันทำสัญญาตามบันทึกลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จำเลยสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษกห้วยขวาง เพื่อชำระค่าหุ้นดังกล่าว ให้แก่โจทก์ ๕ ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ และวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปจนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๘ ตามลำดับ ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวของจำเลยสองฉบับแรกไปเรียกเก็บเงินและได้เงินจากธนาคารไปแล้ว แต่เช็คพิพาทสามฉบับหลังของจำเลย ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
จำเลยฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงินตามคำฟ้องแย้งของจำเลยขอให้ชำระเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาตามคำฟ้องแย้งจึงมีเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยฎีกาเกี่ยวกับฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่โอนหุ้นให้จำเลย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่โอนหุ้นให้จำเลย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะกล่าวถึงเรื่องที่โจทก์ยินยอมถอนหุ้นจากบริษัทณัชปภา จำกัด โดยจำเลยยินยอมชำระเงินค่าถอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ก็ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัทณัชปภา จำกัด ระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อ ยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ต้องทำแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัทตามเอกสารหมาย ล.๒ ในหมวด ๒ ข้อ ๔ ว่าด้วยเรื่องหุ้นและผู้ถือหุ้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการโอนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวมาใช้บังคับได้ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.๓ ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาทำให้การซื้อขายหุ้น ตกเป็นโมฆะไม่ เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าโอนหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนโดยการลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้แก่จำเลยภายใน ๗ วัน นับจากวันทำสัญญาตามข้อตกลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้แก่จำเลยภายใน ๗ วัน ตามบันทึกข้อตกลง ทั้ง ๆ ที่โจทก์รับเช็คชำระค่าโอนหุ้นจากจำเลยไปครบถ้วนแล้ว ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนหุ้นดังกล่าวให้จำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนโดยการโอนหุ้นของ บริษัทณัชปภา จำกัด ให้แก่จำเลย แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่โอนหุ้นดังกล่าวเสียเอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงิน ค่าโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์เช่นกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็คชำระค่าหุ้นแต่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาการโอนหุ้น แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้นจากจำเลยได้ อันรวมไปถึงการไม่อาจยึดถือไว้ซึ่งเงินค่าหุ้นที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วได้ และเงินค่าหุ้นจำนวนที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ไว้แล้วดังกล่าว จำเลยได้ฟ้องแย้งโจทก์ไว้และฎีกาขึ้นมา แต่เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกันต้องบังคับตามมาตรา ๑๔๖ วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนหุ้นให้จำเลย ดังนั้นโจทก์ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่ได้รับไว้แล้วแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์คืนเงิน ดังกล่าวแก่จำเลยได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกา แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม ๖,๐๐๐ บาท .

Share