แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า แม้ชั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ได้แนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2521 ซึ่งเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เป็นหลักฐานประกอบหนี้ แต่ความจริงเมื่อพิจารณาจากบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินด้านหลังคำขอรับชำระหนี้ในช่องหลักฐานประกอบหนี้แล้วมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คือมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่28 มีนาคม 2527 หาใช่มูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม2521 ที่มีการชำระหนี้ครบถ้วนแล้วไม่ น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้แนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดพลาด ถือว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 ภายในกำหนดสองเดือน เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า หนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ เจ้าหนี้ต้องนำมูลหนี้นั้นไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือน การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยแนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2521 ซึ่งได้มีการชำระหนี้ครบถ้วนแล้วเป็นหลักฐานประกอบหนี้ และได้นำมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 ซึ่งไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดสองเดือนมาให้การสอบสวน ทำให้เจ้าหนี้อื่นไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานประกอบหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 ได้ จึงขัดต่อมาตรา 94และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เป็นมูลหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาที่ว่า ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นการขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2521 มิใช่ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28มีนาคม 2527 และเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด อันจะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าการที่เจ้าหนี้แนบสำเนาสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม2521 มาท้ายคำขอรับชำระหนี้เป็นการผิดพลาดความจริงแล้วมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คือมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 และถือว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28มีนาคม 2527 ภายในกำหนดสองเดือนแล้วซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153หากแต่เป็นฎีกาข้อกฎหมายในปัญหาที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 นั้นเป็นการชอบด้วยมาตรา 91 และมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483หรือไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 และมาตรา 247 ประกอบกับ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยพยานหลักฐานของเจ้าหนี้แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า การที่เจ้าหนี้แนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5ตุลาคม 2521 เป็นหลักฐานประกอบหนี้มาท้ายคำขอรับชำระหนี้ เป็นการผิดพลาดความจริงแล้วมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คือมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 ซึ่งถือว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับดังกล่าวภายในกำหนดสองเดือนแล้ว ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ยังเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับดังกล่าวอยู่แก่เจ้าหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นมูลหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้
ตามสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นอกจากเจ้าหนี้ได้แนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2521 เป็นหลักฐานประกอบหนี้แล้ว เจ้าหนี้ยังได้แนบสำเนารายการบัญชีเดินสะพัดเป็นหลักฐานประกอบหนี้และเป็นรายการบัญชีเดินสะพัดที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2527 มาด้วยแล้ว เช่นนี้ย่อมนับเป็นหลักฐานประกอบหนี้เพียงพอที่เจ้าหนี้อื่นสามารถตรวจสอบได้ หาได้เป็นการฝ่าฝืนไม่ชอบด้วยมาตรา91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พะ.ศ.2483 แต่อย่างใดไม่