คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งความแพ่งมาตรา248ที่จำเลยร่วมฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วมเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพราะฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมเป็นนายจ้างจำเลยที่1จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างนั้นปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วมฎีกาของจำเลยร่วมจึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มานั้นเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กำหนดอายุความ1ปีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคหนึ่งจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วหากผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดแต่ยังไม่รู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนกำหนดอายุความ1ปีนั้นก็จะยังไม่เริ่มนับโจทก์เพิ่งได้รับจากคำให้การของจำเลยที่2ซึ่งยื่นต่อศาลเมื่อวันที่30สิงหาคม2533ว่าจำเลยที่2ได้ขายรถยนต์คันเกิดเหตุให้แก่จำเลยร่วมไปก่อนเกิดเหตุโจทก์จึงเพิ่งรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยร่วมที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่14กุมภาพันธ์2534ยังไม่ล่วงพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฉ-7137 กรุงเทพมหานคร จากนางกาญจนา สุทธิพงศ์มีอายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2531 ถึงวันที่1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ย-0673 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2ไปในทางการที่จ้างหรือทางการธุรกิจอันมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน9 ฉ-7137 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแซมและส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 87,044 บาท โจทก์จึงไม่รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,808 บาท รวมเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้น 90,852 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 90,852 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 87,048 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ย-0673 กรุงเทพมหานคร ให้แก่นายกลชาติไม่ทราบนามสกุลก่อนเกิดเหตุนานแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการเจ้าของรถจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายกลชาติลิ้มภูมิปฐม เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในฐานะเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 ย-0673 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างหรือตัวการได้ใช้จ้างวานหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในขณะเกิดเหตุ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการได้ใช้จ้างวานหรือมีผลประโยชน์ในทางการที่จ้างกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพียงแต่ยืมรถยนต์ของจำเลยร่วมไปใช้เท่านั้น จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะเกิดเหตุผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฉ-7137 กรุงเทพมหานคร เป็นบุคคลภายนอกมิใช่นางกาญจนา สุทธิพงศ์ ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยอันจะมีสิทธิรับช่วงสิทธิได้เหตุรถเบียดกันเพราะผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาท โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 5,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 87,044 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 ต้องไม่เกิน3,808 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยร่วมฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วมเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพราะฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้จึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยร่วมฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมขาดอายุความหรือไม่ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนโดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2532 จำเลยที 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ย-0673 กรุงเทพมหานครของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยร่วมด้วยความประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ฉ-7137กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายโจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้และส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โดยโจทก์ต้องชำระค่าซ่อมเป็นเงิน87,044 บาท โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 13กรกฎาคม 2533 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมดังกล่าวไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1เป็นผู้กระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2533ว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ย-0673กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมเป็นของจำเลยที่ 2 ให้แก่นายกลชาติไม่ทราบนามสกุล ไปก่อนเกิดเหตุแล้ว ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์2534 โจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงร่วมกันว่าเพิ่งทราบชื่อ นามสกุลและที่อยู่ของจำเลยร่วมโจทก์จะยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมต่อไป แล้วโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2534 ขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเจ้าของรถหมายเลขทะเบียน 7 ย-0673 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการได้ใช้จ้างวานหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในขณะเกิดเหตุเข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” กำหนดอายุความ 1 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว หากผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดแต่ยังไม่รู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนกำหนดอายุความ 1 ปี นั้นก็จะยังไม่เริ่มนับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เพิ่งได้ทราบจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์คันเกิดเหตุให้แก่จำเลยร่วมไปก่อนเกิดเหตุ โจทก์จึงเพิ่งรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยร่วม ที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 ยังไม่ล่วงพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share