คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ชั้นแรกพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266,268ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดอุดรธานีที่จะพิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลจังหวัดอุดรธานีปล่อยตัวจำเลยแล้ว ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สอบสวนและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 กรณีย่อมถือว่าจำเลยเพิ่งถูกจับในข้อหาของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงตั้งแต่วันแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 เมื่อพนักงานสอบสวนส่งตัวจำเลยต่อพนักงานอัยการและพนักงานอัยการได้ขอผัดฟ้องและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 7วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องขออนุญาตอธิบดีกรมอัยการก่อนฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดตามฟ้องคดีนี้เป็นข้อหาเดียวกับที่จำเลยถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดอุดรธานีแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้ชั้นแรกพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดอุดรธานีที่จะพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนได้ขอฝากขังจำเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีจนครบ 2 ครั้งแล้ว พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ดำเนินการอย่างไร ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยไป ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2536 พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 กรณีย่อมถือว่าจำเลยเพิ่งถูกจับในข้อหาของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงตั้งแต่วันแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวจำเลยต่อพนักงานอัยการในวันเดียวกันกับวันที่แจ้งข้อหาและพนักงานอัยการได้ขอผัดฟ้องและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 7 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องขออนุญาตอธิบดีกรมอัยการก่อนฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พฤติการณ์แห่งคดีส่อให้เห็นความประพฤติของจำเลยว่าจะเป็นภัยต่อสังคมศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share