คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ตามสัญญากู้เงินส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าว โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ค้ำประกันไว้ ซึ่งตามหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า”นอกจากนี้ผู้ค้ำประกันย่อมไม่พ้นจากความรับผิดเพราะเหตุธนาคารอาจกระทำการใด ๆ ไปเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในสิทธิใด ๆ ก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิซึ่งลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ตามได้ให้ไว้แก่ธนาคารแต่ก่อนหรือในขณะหรือหลังจากวันทำสัญญาค้ำประกันนี้”และข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาดังนี้ แม้โจทก์ผู้รับจำนองเพิกเฉยไม่คัดค้านการร้องขอกันส่วนของจำเลยที่ 4 สามีจำเลยที่ 1 ในฐานะสินสมรสทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับเงินส่วนที่ขอกันไว้750,000 บาท จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องเสียหายก็ตามจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 3ได้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์746,900 บาท ตกลงผ่อนชำระเดือนละ 11,495 บาทชำระงวดแรกวันที่ 13 เมษายน 2523 และทุกวันที่ 13ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2523จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์อีก 748,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเดือนละ 11,515 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 31 สิงหาคม 2523และทุกวันสิ้นเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ การกู้เงินทั้งสองครั้งโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จำเลยที่ 1 ยอมให้เพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 36880 และ36890 ตำบลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2526 คงค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้เงินฉบับแรก 667,530.28 บาท และชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สองครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2526 คงค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้เงินฉบับที่สอง 692,549.67 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์โจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2528ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นเป็นเงิน1,823,362 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีจากต้นเงิน 667,530.28 บาท และ 692,549.67 บาทนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ วันที่26 พฤศจิกายน 2529 โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง 664,875.50 บาท จำเลยที่ 1 คงค้างชำระ1,469,340.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีของต้นเงิน 1,360,079.95 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,449,360.81 บาท รวมเป็นหนี้ทั้งหมด 2,918,701.14 บาท ขณะทำสัญญากู้เงินจำเลยที่ 4ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมด้วย จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 2,918,701.14 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จากต้นเงิน 1,360,079.95 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การว่า สัญญากู้เงินระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ปรากฏชื่อผู้ให้กู้และพยานลงลายมือชื่อต่อหน้าคู่สัญญา ข้อความตามรายการในสัญญากู้เงินไม่ได้ระบุไว้ในขณะคู่สัญญาลงลายมือชื่อโจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1ไม่มีทรัพย์สินหรือรายได้ใดอีกเพราะถูกคุมขังในทัณฑสถานย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมทั้งมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ แต่โจทก์กลับเพิกเฉย และคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้ความยินยอมในการทำสัญญากู้เงินมิใช่ยอมตนเข้าผูกพันหรือร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 สัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่มีข้อความใด ๆ ระบุว่าจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอกันส่วนจากทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นนำยึดเพื่อขายทอดตลาด โจทก์ไม่คัดค้านและไม่เรียกให้จำเลยที่ 4ชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามหรือเอกสารอื่นจากโจทก์โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันตลอดเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันระบุจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในแต่ละสัญญาไว้แน่นอน โดยจำเลยที่ 2ต้องรับผิดในวงเงินไม่เกิน 597,520 บาท และ 598,400 บาทส่วนจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในวงเงินไม่เกิน 149,380 บาทและ 149,600 บาท โจทก์เพิกเฉยไม่รักษาสิทธิผู้จำนองโดยไม่คัดค้านการยื่นคำร้องขอกันส่วนของจำเลยที่ 4 หากโจทก์คัดค้านหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อมิให้จำเลยที่ 4รับเงินที่ขอกันส่วน โจทก์ย่อมได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด และนับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันฟ้องเกินกำหนด 5 ปีสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจึงขาดอายุความ โจทก์คำนวณยอดหนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องคำฟ้องโจทก์ไม่ระบุถึงวันชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และคิดดอกเบี้ยขึ้นลงอย่างไร ได้รับชำระหนี้แล้วเพียงใด คำฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน2,918,701.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีจากต้นเงิน 1,360,079.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดในต้นเงินเพียง 598,400 บาท 149,600 บาท และ 149,600 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกินกำหนด 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมรับผิด 598,400 บาท และ 149,600 บาท ตามลำดับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1กู้เงินจากโจทก์จำนวน 746,900 บาท ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2523จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์อีก 748,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในการกู้เงินทั้งสองครั้ง มีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยในการกู้ครั้งแรกจำเลยที่ 2ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 597,520 บาทจำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน149,380 บาท การกู้เงินครั้งที่สองจำเลยที่ 2ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 598,400 บาทจำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน149,600 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 กู้เงินทั้งสองครั้งโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ 36480 และ 36890 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อมาที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1จำนองไว้แก่โจทก์ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 3754/2527 ของศาลชั้นต้น นำยึดเพื่อขายทอดตลาด ในวันที่10 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอกันส่วนจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองครึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นสินสมรสศาลชั้นต้นอนุญาต และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2528 โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้1,823,362 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน1,360,079.95 บาท โจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง 664,875.50 บาท จำเลยที่ 4ได้รับเงินกันส่วนของตน 750,000 บาท จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับเป็นเงิน 1,469,340.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 1,360,079.95 บาทนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น2,918,701.14 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมทั้งสิ้น 2,918,701.14 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3มีความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวทั้งสองครั้ง โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ค้ำประกันไว้ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินให้โจทก์ในวงเงิน 597,520 บาท และ 598,400 บาท รวมเป็นเงิน 1,195,920 บาทจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชำระเงินให้โจทก์ในวงเงิน149,380 บาท และ 149,600 บาท รวมเป็นเงิน 298,980 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จากต้นเงินที่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การที่โจทก์เพิกเฉยไม่มาคัดค้านการร้องขอกันส่วนของจำเลยที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับเงินส่วนที่ขอกันไว้ 750,000 บาท จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า “นอกจากนี้ผู้ค้ำประกันย่อมไม่พ้นจากความรับผิดเพราะเหตุธนาคารอาจกระทำการใด ๆ ไปเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือบางส่วนในสิทธิใด ๆ ก็ดี จำนองก็ดี จำนำก็ดีและบุริมสิทธิซึ่งลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ตามได้ให้ไว้แก่ธนาคารแต่ก่อนหรือในขณะหรือหลังจากวันทำสัญญาค้ำประกันนี้” ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญา ฉะนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ก็ไม่อาจทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,195,920 บาท และ 298,980 บาท ตามลำดับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share