คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6900/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้องจริง แต่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกามีอำนาจรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้
จำเลยรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 34 กับมีไว้ในความครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนดโดยมิได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง, 71 ทวิ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะการรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียมีเจตนาเดียวเพื่อครอบครองของป่านั่นเอง ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมา 2 กระทงจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 736/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 1 ปี 16 เดือน ฐานร่วมกันมีและเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในกำหนดเวลาห้าปีตั้งแต่วันที่จำเลยพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 34, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 92 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง), 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 34, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนด จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,200 บาท ฐานรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งของป่าที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 11,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 5,600 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกคำขอให้เพิ่มโทษ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษและให้เพิ่มโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนด จำคุก 4 เดือน ฐานรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งของป่าที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ไม่ปรับ และไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้องจริง ก็ปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลมีอำนาจรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ได้ และกรณีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติด้วย
อนึ่ง การที่จำเลยรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งของป่ากับมีไว้ในความครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนดโดยมิได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะการรับไว้ ซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียมีเจตนาเดียวเพื่อครอบครองของป่านั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมา 2 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติจำเลย มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนดเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share