คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและนำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 5ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และต่อมาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าสินค้าไม่ส่งมอบให้โจทก์อันเป็นความเสียหายจากการทำงาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานและอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 5 ในส่วนนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1ที่เกิดจากการทำงาน และความรับผิดของจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงาน จึงระงับสิ้นไป ทั้งฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่าโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันฉบับหลังคือหนี้ที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 5 ยอมผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์ โดยยอมร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแทนโจทก์ แล้วไม่นำเงินส่งมอบให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ตกลงจะผ่อนชำระเงินคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมผูกพันตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 2,551,439.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 2,343,457.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ทวงถามและเก็บเงินค่าสินค้าบางส่วนส่งให้โจทก์บ้างแล้วต่อมาโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอ้างว่าจำเลยที่ 1กระทำการทุจริตยักยอกไม่นำเงินค่าสินค้าส่งมอบให้โจทก์ โจทก์ข่มขู่จำเลยที่ 1 ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับวาเป็นหนี้โจทก์จำนวน 2,343,457.28 บาท และให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวกับให้หาผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 เกิดความกลัวตามที่โจทก์ข่มขู่จึงต้องยอมลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงเป็นโมฆียะ จำเลยทั้งสี่ขอบอกล้างสัญญา โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 โดยหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังและเสียหาย ไม่สามารถติดต่อค้าขายกับลูกค้าได้ขอเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศเป็นเงิน 5,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าตอบแทนการขายและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 5,229,000 บาท แก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 5 ให้การว่า หนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ปลอมขึ้น จำเลยที่ 5 ไม่มีความผูกพันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลแรงงานกลางเพราะไม่ใช่พิพาทเรื่องแรงงาน แต่เป็นการโต้แย้งสิทธิกันในเรื่องหนังสือค้ำประกัน โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ข้อหาตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ที่กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ก็ดี โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1โดยการหมิ่นประมาทก็ดี ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ต้องนำคดีไปฟ้องใหม่ต่างหาก ที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,231,257.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในส่วนเกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานก็ตาม แต่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและขอผ่อนชำระแก่โจทก์ จึงเป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่เกิดจากการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เปลี่ยนมาเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปเนื่องจากการระงับสิ้นไปของหนี้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ดังจะเห็นได้ว่าแม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้วโจทก์ยังต้องให้จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดในหนี้อันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 5 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้วทั้งฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันฉบับหลังมิใช่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ดังนั้นศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อีกหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานจึงไม่ชอบและเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ส่วนจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ก็เห็นว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าคดีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความของจำเลยที่ 5 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 5 ในศาลที่มีอำนาจต่อไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 อีก”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share