คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายยืนเรียกรถแท็กซี่ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คนเข้าไปพูดกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยทั้งสองลูบตามตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตนแล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้จำเลยที่ 1 กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

หลังจากสืบพยานจำเลยทั้งสองเสร็จ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 83 จำคุก 10 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 3,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้าย ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนายโทมัสดิลลอนผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ผู้เสียหายยืนอยู่ที่ริมฟุตบาทในซอยนานาเพื่อเรียกรถแท็กซี่เดินทางกลับโรงแรม มีจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน เข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม แต่ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยทั้งสองกับพวกเข้ามาลูบตามตัวผู้เสียหาย ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ได้ล้วงที่กระเป๋ากางเกงข้างขวาด้านหน้าของผู้เสียหายหยิบเอาเงินสดจำนวน 3,500 บาทไป จากนั้นได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่พวกของจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกพากันวิ่งหลบหนี ผู้เสียหายวิ่งตามไปและจับจำเลยที่ 1ได้ พร้อมทั้งแย่งเอาโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าของจำเลยที่ 1 เพราะคิดว่าเอกสารในกระเป๋าของจำเลยที่ 1 จะช่วยให้ติดตามคนร้ายและสามารถทราบชื่อคนร้ายได้หลังจากได้สิ่งของจากจำเลยที่ 1 แล้วผู้เสียหายได้วิ่งตามคนร้ายที่เหลืออีก 2 คน ปรากฏว่าผู้เสียหายจับจำเลยที่ 2 ได้เมื่อจับจำเลยทั้งสองได้แล้วผู้เสียหายได้ตะโกนเรียกเจ้าพนักงานตำรวจ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 ได้กัดมือขวาผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง มีชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหาและบอกผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สักครู่มีเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งแต่งเครื่องแบบมายังที่เกิดเหตุและนำผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองไปสถานีตำรวจ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายเป็นนักธุรกิจชาวต่างประเทศและมีกำหนดการที่จะไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศในวันรุ่งขึ้น หากไม่เป็นจริงดังที่เบิกความแล้ว ผู้เสียหายคงไม่ร้องเรียกให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยเช่นนี้ เพราะจะทำให้ตนเองกลับไปต่างประเทศตามกำหนดเดิมไม่ได้ และจะต้องเลื่อนการเดินทางออกไป อันจะก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ตนเองเป็นอันมาก อีกทั้งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบคำเบิกความของสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ คงแขม และร้อยตำรวจเอกสันติ มีศิริ ผู้จับกุมจำเลยทั้งสองที่ว่า ร้อยตำรวจเอกสันติได้สอบถามผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกว่าจำเลยทั้งสองกับพวกอีกคนหนึ่งที่หลบหนีได้ลักเอาเงินสดจำนวน 3,500 บาท ในกระเป๋ากางเกงของผู้เสียหายไปและได้กัดมือผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บ ทั้งผู้เสียหายยืนยันให้จับกุมจำเลยทั้งสองด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ซึ่งพยานโจทก์สองปากนี้เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน จึงไม่มีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า เห็นผู้เสียหายยืนคุยกับกะเทยคนหนึ่ง สักครู่หนึ่งผู้เสียหายเข้ามายืนอยู่กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นล่าม เนื่องจากจำเลยที่ 2 พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง จำเลยที่ 2 จึงบอกผู้เสียหายว่าหากจะพาจำเลยที่ 2 ไปนอนด้วยชั่วคราวราคา 1,500 บาท ค้างคืน 3,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงินก่อน ผู้เสียหายตกลง จำเลยที่ 1 ได้หันไปพูดคุยกับเพื่อนต่อ ต่อมาผู้เสียหายล้วงกระเป๋าเพื่อหยิบเงิน แต่ไม่พบและกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เอาเงินไป แล้วยึดเอากระเป๋าและโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ไปนั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ หามีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนแต่อย่างใดไม่ แม้จะมีจำเลยที่ 2 กับนายภานุพงศ์ เกิดกรุง มาเบิกความเป็นพยานก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิด จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนนายภานุพงศ์นั้นก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ล้วงกระเป๋าของผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์หนักแน่นมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันล้วงเอาเงินจำนวน 3,500 บาท จากกระเป๋ากางเกงของผู้เสียหายไป เมื่อผู้เสียหายจับจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้กัดมือผู้เสียหายเพื่อให้ปล่อยจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จึงเป็นการร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share