คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่ากุ๊กและCOOK ประกอบด้วยรูปการ์ตูนเต็มทั้งตัวแต่งตัวเป็นพ่อครัวลำตัวคล้ายขวดมีมือสองข้างและเท้าสองข้างคำว่ากุ๊กและCOOK อยู่กลางลำตัวส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเป็นรูปคนอยู่ภายในวงกลมค่อนซีกแม้จะแต่งตัวเป็นพ่อครัวแต่ก็มีเพียงครึ่งตัวท่อนบนมีมือสองข้างแต่ไม่มีเท้ามีอักษรประดิษฐ์คำว่าPRอยู่ที่หน้าอกของพ่อครัวลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยอยู่ที่รูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวซึ่งมีขนาดใหญ่มิได้อยู่ที่คำว่ากุ๊กพีอาร์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวในเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างจากรูปการ์ตูนลักษณะเป็นขวดตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดเจนประกอบกับฉลากปิดสินค้าซอสปรุงรสตราพีอาร์ของจำเลยก็ไม่มีคำว่ากุ๊กปรากฎอยู่แต่มีรูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวและระบุชื่อบริษัทจำเลยเป็นผู้ผลิตพร้อมที่อยู่ใต้รูปคนดังกล่าวเห็นได้อย่างเด่นชัดทั้งสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็มีเพียงชนิดเดียวคือน้ำมันพืชเท่านั้นส่วนสินค้าของจำเลยเป็นซอสซีอิ๊วเต้าเจี้ยวและน้ำปลาไม่มีน้ำมันพืชยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิดดังนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525คำว่ากุ๊กหมายถึงพ่อครัวทำกับข้าวฝรั่งฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำสามัญที่มีคำแปลไม่ก่อให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้คำว่ากุ๊กแต่เพียงผู้เดียวบุคคลทั่วไปต่างใช้คำว่ากุ๊กได้จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่ากุ๊ก และ COOK และเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยรูปพ่อครัวประดิษฐ์ กับคำว่า กุ๊ก และ/หรือ COOK ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวก จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่ากุ๊กพีอาร์ กับรูปพ่อครัว สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกตามคำขอเลขที่ 187941 โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 187941 ต่อไป แต่ให้รอไว้ 90 วันนับแต่วันที่คู่กรณีได้รับสำเนาคำวินิจฉัยนี้ตามมาตรา 22 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยดังกล่าว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงนำคดีนี้มาสู่ศาลเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนโจทก์เป็นเจ้าของและได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าน้ำมันพืชในประเทศไทยมาเป็นเวลานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนิยมแพร่หลาย จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊ก และ/หรือCOOK ดีกว่าจำเลย ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 187941 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับห้ามจำเลยยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้านั้นตลอดจนเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราพีอาร์ ใช้กับสินค้าประเภท ซอส เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว และน้ำปลาจนเป็นที่แพร่หลาย ต่อมาจำเลยเกรงว่าจะมีผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นรูปพ่อครัว จึงยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนทำครัวมีอักษรโรมันตัว PR ในลักษณะประดิษฐ์อยู่ตรงหน้าอกและอยู่ภายในกรอบวงกลม มีอักษรไทยคำว่า กุ๊กพีอาร์อยู่ด้านบน และมีรูปลวดลายประดิษฐ์พื้นทึบอยู่ด้านล่างเป็นสาระสำคัญเพื่อให้สาธารณชนใช้เป็นที่สังเกตและเรียกขาน ซึ่งต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่บ่งเน้นที่อักษรโรมันคำว่าCOOK และอักษรไทยคำว่า กุ๊ก อีกทั้งรูปและลวดลายประดิษฐ์ของตัวอักษรก็แตกต่างกัน คำว่า COOK ไม่ใช่คำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นแต่เป็นคำที่มีความหมายในพจนานุกรมทั่วไป ส่วนอักษรไทยคำว่ากุ๊กได้เทียบเสียงมาจากอักษรโรมันคำว่า COOK ซึ่งเป็นคำที่มีความหมาย ไม่ใช่คำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้คำว่า กุ๊ก หรือ COOK ได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า กุ๊ก และ COOK ประกอบด้วยรูปการ์ตูนเต็มทั้งตัว แต่งตัวเป็นพ่อครัว ลำตัวคล้ายขวดมีมือสองข้างและเท้าสองข้าง คำว่า กุ๊ก และ COOK อยู่กลางลำตัวส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเป็นรูปคนอยู่ภายในวงกลมค่อนซีก แม้จะแต่งตัวเป็นพ่อครัวแต่ก็มีเพียงครึ่งตัวท่อนบน มีมือสองข้างแต่ไม่มีเท้า มีอักษรประดิษฐ์คำว่า PRอยู่ที่หน้าอกของพ่อครัว ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยอยู่ที่รูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวซึ่งมีขนาดใหญ่มิได้อยู่ที่คำว่า กุ๊กพีอาร์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า รูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวในเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างจากรูปการ์ตูนลักษณะเป็นขวดตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดเจน ประกอบกับฉลากปิดสินค้าซอสปรุงรถตราพีอาร์ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ล.3ก็ไม่มีคำว่า กุ๊ก ปรากฎอยู่ แต่มีรูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวและระบุชื่อบริษัทจำเลยเป็นผู้ผลิตพร้อมที่อยู่ที่จังหวัวนครสวรรค์ใต้รูปคนดังกล่าวเห็นได้อย่างเด่นชัด ทั้งสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็มีเพียงชนิดเดียวคือ น้ำมันพืชเท่านั้น ส่วนสินค้าของจำเลยเป็นซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และน้ำปลา ไม่มีน้ำมันพืช ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิด ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าคำว่า กุ๊ก เป็นคำที่โจทก์จดทะเบียนไว้ การที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้คำว่า กุ๊กพีอาร์ มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า กุ๊ก เป็นคำที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525คำว่า กุ๊ก หมายถึง พ่อครัวทำกับข้าวฝรั่ง ฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำสามัญที่มีคำแปล ไม่ก่อให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้คำว่า กุ๊กแต่เพียงผู้เดียว บุคคลทั่วไปต่างใช้คำว่า กุ๊ก ได้ จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
พิพากษายืน

Share