แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายเพียงยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องฟ้องร้องทางแพ่งเป็นคดีใหม่กันอีก แต่คำร้องดังกล่าวคงมีประเด็นเฉพาะการกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ส่วนข้อหาต้องอาศัยตามคำฟ้องพนักงานอัยการ อีกทั้งผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการโจทก์อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลล่าง และศาลสูงวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดอาญา ศาลสูงก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งไปได้ ในทำนองเดียวกับมาตรา 43 โดยไม่จำต้องให้ผู้เสียหายอุทธรณ์หรือฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 278, 362, 364 และ 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว อ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนาง ส. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และนาย อ. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนาง ก. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับความเสียหายแก่กายและจิตใจ และค่าเสียเวลาต้องหยุดเรียนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า ผู้ร้องที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า ผู้ร้องที่ 2 จำเลยไม่ให้การคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 364, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งของผู้ร้องทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางสาว อ. ผู้ร้องที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. และนาง ส. เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปีเศษ นาย อ. ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรของนาย อ. และนาง ก. เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2536 ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปีเศษ ขณะเกิดเหตุผู้ร้องทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าเป็นห้องแถวเลขที่ 215/14 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยกับพวกมาที่ห้องที่เกิดเหตุ จำเลยได้ใช้มือตบที่ใบหน้าของผู้ร้องที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่า ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำอนาจารบุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้ร้องทั้งสองเป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุผู้ร้องทั้งสองเข้านอนในห้องนอนภายในห้องเช่าที่เกิดเหตุ โดยใส่กลอนประตูห้องด้านหน้าแล้ว แต่ไม่ได้ใส่กลอนประตูห้องนอน ได้ยินเสียงมีคนมาดึงประตูห้องด้านหน้า ผู้ร้องที่ 2 จึงออกจากห้องนอนเพื่อที่จะเปิดสวิตช์ไฟฟ้าที่ห้องโถง เห็นจำเลยและนาย บ.เข้ามาภายในห้องแล้ว ผู้ร้องที่ 1 จึงตะโกน จำเลยวิ่งเข้าไปในห้องนอนผลักผู้ร้องที่ 1 ลงนอนที่พื้นเอามือปิดปากและดึงเสื้อผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 ใช้เท้าถีบเพื่อให้หลุดจากจำเลย ผู้ร้องที่ 1 วิ่งออกจากห้อง จำเลยจับแขนของผู้ร้องทั้งสองไขว้ไว้ข้างหลัง ผู้ร้องที่ 1 ดิ้นหลุดวิ่งออกไปหน้าห้องเช่า ผู้ร้องที่ 2 วิ่งไปเปิดสวิตช์ไฟฟ้าที่อยู่ข้างประตูหน้าบ้าน แล้วถูกนาย บ. จับไว้และพูดขู่ว่า “อย่าเข้าไปช่วย ถ้าเข้าไปช่วยจะยิง” ผู้ร้องที่ 2 ดิ้นหลุด ผู้ร้องทั้งสองจึงวิ่งหลบหนีไปที่บ้านของนางสาวหญิงไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนจึงไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยเพื่อให้ได้รับโทษ ผู้ร้องทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมีเหตุมีผลควรแก่การรับฟัง ภายหลังเกิดเหตุแพทย์หญิง ก. ตรวจร่างกายผู้ร้องที่ 1 ก็พบบาดแผลฟกช้ำสีเขียวบริเวณต้นแขนขวา 2 แห่ง และ บาดแผลฟกช้ำสีเขียวบริเวณส่วนหน้าของต้นขาขวา มีความเห็นว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากกระทบกับวัตถุแข็งไม่มีคม ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ที่ผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่า ไม่ได้ไปแจ้งความในทันที เพราะไม่รู้จักสถานที่ รุ่งขึ้นไปเรียนหนังสือและได้โทรศัพท์แจ้งมารดาของผู้ร้องที่ 1 ทราบว่ามีคนมาที่ห้องเช่าจะปล้ำและได้ย้ายไปพักที่หอพักแล้ว และผู้ร้องที่ 1 จึงเดินทางกลับบ้านที่อำเภอสิชลเล่าเรื่องให้บิดาและมารดาของผู้ร้องที่ 1 ทราบ ต่อมาบิดาและมารดาของผู้ร้องที่ 1 จึงพาผู้ร้องที่ 1 เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน นั้น ขณะเกิดเหตุผู้ร้องทั้งสองอายุ 16 ปีเศษไม่เคยมาอยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชมาก่อน จึงอาจไม่ทราบว่าสถานีตำรวจอยู่ที่ไหน จะต้องดำเนินการอย่างไร และขณะเกิดเหตุเป็นเวลาค่ำมืดแล้ว ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์จะต้องรอปรึกษาหารือบิดาและมารดาของตนก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไร นาย ส. บิดาของผู้ร้องที่ 1 ก็เบิกความสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกบุกรุกเข้าไปในห้องเช่าที่เกิดเหตุและจำเลยผลักผู้ร้องที่ 1 ลงนอนกับพื้น จับมือและแขนของผู้ร้องที่ 1 เป็นการกระทำต่อเนื้อตัวของผู้ร้องที่ 1 ที่ไม่สมควรทางเพศโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องและยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น สำหรับค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิจารณาบาดแผลประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้วกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้องที่ 1 และยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 มานั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 3 ปี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว เห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นกระบวนการที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัด ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 44/1 ให้ผู้เสียหายเพียงยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โดยไม่จำต้องฟ้องร้องทางแพ่งเป็นคดีใหม่กันอีก แต่คำร้องนี้คงมีประเด็นเฉพาะการกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ส่วนข้อหาต้องอาศัยตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ ทั้งผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการโจทก์อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลล่าง และศาลสูงวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาอันเป็นการทำละเมิดต่อผู้เสียหาย ศาลสูงก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งไปได้ ในทำนองเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 43 โดยไม่จำต้องให้ผู้เสียหายอุทธรณ์หรือฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และประกอบมาตรา 225 และเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาบาดแผลประกอบพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้วกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 กับให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 มานั้น เหมาะสมแล้ว
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี กับให้บังคับคดีส่วนแพ่งไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาให้เป็นพับ