คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การค้าเร่และการค้าแผงลอยจะไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 มาตรา 7 (1) แต่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ได้บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน โดยในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและมีกฎกระทรวงว่าด้วยการขอและออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่าและแลกเปลี่ยน จำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 1 (1) (ค) ได้กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องนำเอกสารและหลักฐานซึ่งมีสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ยื่นต่อนายทะเบียนพร้อมคำอนุญาตด้วย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่จะให้นายทะเบียนใช้ประกอบในการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งการไม่ยื่นสำเนาทะเบียนพาณิชย์ก็ไม่ใช่คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ตามที่มาตรา 39 ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น จึงยังมิอาจถือได้ว่าจำเลยมิใช่ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในความหมายตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะทำให้ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 79
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่า พฤติการณ์ในการจำหน่ายภาพยนตร์ของจำเลยจัดอยู่ในประเภทของการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย ซึ่งไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อขอรับใบทะเบียนตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 7 (1) และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรับใบอนุญาตจำหน่ายภาพยนตร์จากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 จำเลยจึงมิใช่ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ในความหมายของมาตรา 38 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง เห็นว่า แม้การค้าเร่และการค้าแผงลอยจะไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 มาตรา 7 (1) แต่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ได้บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมีกฎกระทรวงว่าด้วยการขอและออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่าและแลกเปลี่ยน จำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 1 (1) (ค) ได้กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องนำเอกสารและหลักฐานซึ่งมีสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ยื่นต่อนายทะเบียนพร้อมคำอนุญาตด้วย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่จะให้นายทะเบียนใช้ประกอบในการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งการไม่ยื่นสำเนาทะเบียนพาณิชย์ก็ไม่ใช่คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ตามที่มาตรา 39 ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น จึงยังมิอาจถือได้ว่าจำเลยมิใช่ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในความหมายตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะทำให้ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและเพื่อให้คดีของจำเลยได้รับการพิจารณาพิพากษาตามลำดับตามกฎหมายอันจะเป็นประโยชน์แก่ความยุติธรรมและจำเลย จึงสมควรย้อนสำนวนคดีกลับไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share