แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นนายทะเบียนอำเภอมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 5,35 ในการจัดทำทะเบียนคนทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอ และแก้ทะเบียนคนให้ถูกต้องเมื่อมีการเพิ่มลดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านเกี่ยวกับสัญชาติจะให้นายทะเบียนอำเภอสอบสวนพยานหลักฐานแล้วเสนอตามลำดับชั้นเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติตามกฎกระทรวงก็ตามแต่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่จะดำเนินการไป ดังนี้การที่จำเลยปฏิเสธไม่ดำเนินการจดทะเบียนราษฎรให้โจทก์มีสัญชาติไทยตามที่โจทก์ร้องขอ จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนางละออใจ ซึ่งเป็นญวนต่างด้าวมีสัญชาติไทย จำเลยจัดให้โจทก์อยู่ในทะเบียนญวนอพยพโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จดทะเบียนราษฎรให้โจทก์เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติญวน สัญชาติไทยตามมารดา จำเลยปฏิเสธ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนราษฎรให้โจทก์ทั้งสามเป็นญวนต่างด้าวและมีสัญชาติไทยตามมารดา จำเลยให้การหลายประการและให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นที่กำหนดไว้แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นนายทะเบียนอำเภอเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติ การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 5 และตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัตินี้ จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนคนทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของแต่ละอำเภอ และแก้ทะเบียนคนให้ถูกต้อง เมื่อมีการเพิ่มลดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแม้ว่าในกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านเกี่ยวกับสัญชาติ จะให้นายทะเบียนอำเภอสอบสวนพยานหลักฐานแล้วเสนอตามลำดับชั้น เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 ก็ตาม แต่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ในกรณีดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่นายทะเบียนอำเภอที่จะดำเนินการไป การที่จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนอำเภอปฏิเสธไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามที่โจทก์ทั้งสามร้องขอ เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาและมีคำสั่งชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้