แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ฟ้องเรียกเงินฝากที่ อ. ฝากไว้คืนจากจำเลย ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จ ค่าฝากทรัพย์ชดใช้เงินค่าใช้จ่าย และใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
แม้ตามสำเนาสมุดเงินฝากประจำมีการแสดงยอดเงินคงเหลือครั้งสุดท้ายนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ตามระเบียบการฝากเงินประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากที่ปรากฏในสำเนาสมุดเงินฝากประจำข้อ 3 ระบุว่า การฝากทุก ๆ รายการจำเลยถือว่าผู้ฝากประจำตกลงฝากประจำมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันเดือนปีที่ปรากฏของแต่ละรายการนั้น ๆ และข้อ 4 ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยจำเลยคำนวณให้เช่นเดียวกับเงินฝากประจำอื่น ดังนี้
ฯลฯ ฝากตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปและได้ฝากครบกำหนดระเวลานั้น คำนวณดอกเบี้ยให้ร้อยละ 8 ต่อปี กับข้อ 5 ระบุว่า ระเบียบการนอกจากนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและประเพณีพึงปฏิบัติของธนาคารทุกประการ โดยระเบียบและประเพณีและข้อตกลงดังกล่าวจำเลยต้องแสดงยอดเงินฝากคงเหลือของเงินฝากแต่ละรายการพร้อมดอกเบี้ยทุกระยะ 1 ปี ต่อครั้งให้แก่ผู้ฝาก แม้จะยังมิได้แสดงไว้ในสำเนาสมุดเงินฝาก ก็ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อ ผู้ฝากด้วย การชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี ฉะนั้น แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินประมาณเกือบสองปีแล้ว ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินฝาก ๑๘๘,๔๑๑.๕๐ บาท ตามบัญชีเลขที่ ๑๐๙๗ – ๒ และบัญชีเลขที่ ๔๓๑ – ๓ พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามประกาศของจำเลยนับแต่วันฝากจนกว่าจำเลยจะคืนเงินฝากเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้แสดงหลักฐานโดยแจ้งชัดถึงสิทธิเรียกร้องเงินฝากตามบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ทั้งสองบัญชีพ้นกำหนด ๑๐ ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๘๔,๔๑๑.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๐๓,๑๗๒ .๕๐ บาท นับแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๑ และจากต้นเงิน ๘๑,๒๓๙ บาท นับแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๑ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอัมพรโดยคำสั่งศาลแพ่งธนบุรี ฟ้องเรียกเงินฝากที่นางอัมพรฝากไว้แก่จำเลย สาขาลำปาง คืนจากจำเลย อายุความจึงต้องถือเอาตามบทบัญญัติในเรื่องฝากทรัพย์ เมื่อไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จ ค่าฝากทรัพย์ชดใช้เงินค่าใช้จ่าย และใช้ ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๗๑ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ แม้ตามสำเนาสมุดเงินฝากประจำมีการแสดงยอดเงินคงเหลือครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๑ และวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ตามลำดับนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ก็ตาม แต่ตามระเบียบการฝากเงินประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากที่ปรากฏในสำเนาสมุดเงินฝากประจำ ข้อ ๓. ระบุว่า การฝากทุก ๆ รายการจำเลยถือว่าผู้ฝากตกลง ฝากประจำมีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี นับแต่วันเดือนปีที่ปรากฏของแต่ละรายการนั้น ๆ และข้อ ๔. ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจำเลยคำนวณให้เช่นเดียวกับเงินฝากประจำอื่นดังนี้ ฯลฯ ฝากตั้งแต่ ๑๒ เดือนขึ้นไป และได้ฝากครบกำหนดระยะเวลานั้น คำนวณดอกเบี้ยให้ร้อยละ ๘ ต่อปี กับข้อ ๕. ระบุว่าระเบียบการนอกจากนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและประเพณีพึงปฏิบัติของธนาคารทุกประการโดยระเบียบและข้อตกลงดังกล่าว จำเลยต้องแสดงยอดเงินฝากคงเหลือของเงินฝากแต่ละรายการพร้อมดอกเบี้ยทุกระยะ ๑ ปี ต่อครั้ง ให้แก่ผู้ฝาก แม้จะยังมิได้แถลงไว้ในสำเนาสมุดเงินฝากตามเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา ๑ ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝาก ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา ๑ ปี ฉะนั้น แม้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องเรียกเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๙ หลังจากที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินประมาณเกือบ สองปีแล้ว ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามที่จำเลยฎีกา สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน