แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยถูกฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 288,293 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องจำเลยฎีกา เมื่อยื่นฎีกาแล้ว จำเลยหลบหนีไปศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีแล้ว จำเลยหลบหนีไปเกิน 5 ปีซึ่งเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าอายุความที่จะฟ้องร้องแล้วนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยสมคบกันลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288, 293
จำเลยทั้ง 2 ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 293 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ฯลฯ
จำเลยทั้งสองฎีกา เมื่อยื่นฎีกาแล้วนายสวัสดิ์จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลฎีกาจำหน่ายคดี คงพิจารณาเฉพาะนายคำจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืน
ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม 2495 ทางเรือนจำรายงานว่า จำเลยที่ 1 ถูกจับได้แล้วโจทก์จึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ไป
ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 หลบหนีการพิจารณาของศาลฎีกาไปตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2489 ซึ่งศาลฎีกาจำหน่ายคดีสำหรับตัวจำเลยไปแล้ว เพิ่งจับตัวได้เมื่อ 26 กรกฎาคม 2495 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี จำเลยถูกกล่าวหาโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288, 293 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง5 ปี มีกำหนดอายุความให้ฟ้องร้องภายใน 5 ปี ตามมาตรา 78(3) แต่บัดนี้ จำเลยที่ 1 หลบหนีไปเกินกว่าอายุความที่จะฟ้องร้องแล้ว คดีย่อมขาดอายุความ
จึงพิพากษาให้ยกฟ้องเฉพาะตัวจำเลยที่ 1