คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6878/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยมีโจทก์ที่ 1 คดีนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วม ขอให้บังคับจำเลยคืนคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงิน และโฉนดที่ดินรวม 7 ฉบับที่โจทก์ที่ 2 มอบให้จำเลยไว้เป็นการประกันหนี้เงินกู้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีไว้แล้วว่า โจทก์ทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมไม่อาจเรียกเอาโฉนดที่ดินที่วางไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมจากจำเลยได้จึงพิพากษายกคำขอที่ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ส่วนคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินศาลฎีกาในคดีก่อนวินิจฉัยว่าจำเลยเอาสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับของโจทก์ที่ 2 ไปจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับดังกล่าวเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเอกสารดังกล่าวไว้จึงต้องคืนให้โจทก์ที่ 2 คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ ดังกล่าว และสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวกันนั้นอีกด้วยความประสงค์เช่นเดิม เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันแม้ในคดีก่อนโจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว โดยมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ นั้นแก่จำเลยเป็นประกัน หนี้เงินกู้ยืมและโจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เป็นเช็คแก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยมาขอสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับจากพนักงานของโจทก์ที่ 2 โดยอ้างว่าจะคืนให้แล้วไม่คืน ส่วนในคดีนี้โจทก์ทั้งสองกลับอ้างว่า โจทก์ที่ 2 ขอสินเชื่อจากจำเลยโดยวิธีนำเช็คของโจทก์ที่ 1ไปขายลดให้แก่จำเลย และโจทก์ที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้จำเลยไว้โดยไม่มีการมอบเงินกันจริงพร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ ให้จำเลยไว้เป็นประกันหนี้ขายลดเช็คดังกล่าวและอ้างว่าสัญญาขายลดเช็คดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีหนี้ติดค้างต่อจำเลยก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองก็คงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือโจทก์ทั้งสอง มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับและสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยยึดถือไว้ให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปในคดีก่อนแล้วมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้อีก ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 3382, 23867,23868, 23869, 23870, 23871 และ 23872 ตำบลทรายกองดินอำเภอมีนบุรี (เมือง) จังหวัดพระนคร รวม 7 ฉบับและสัญญากู้ฉบับที่จำเลยเป็นผู้ยึดถือแก่โจทก์หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาทที่โจทก์ที่ 2 ทำไว้กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2532เป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเดิมโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2538 เอกสารหมาย จ.31 ให้จำเลยคืนคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยในวงเงินจำนวน 1,000,000 บาท กับให้คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 3382 และ23867 ถึง 23872 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง)กรุงเทพมหานคร รวม 7 ฉบับ ที่โจทก์ที่ 2 มอบให้จำเลยไว้เป็นการประกันหนี้เงินกู้ อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นเช็คให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว และจำเลยมาขอคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 2 จากพนักงานของโจทก์ที่ 2โดยอ้างว่าจะคืนให้ภายหลัง แต่จำเลยก็ไม่คืนให้ จำเลยให้การว่าโจทก์ที่ 2 ยังมิได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมให้จำเลย และจำเลยไม่เคยไปเอาสัญญากู้ยืมเงินจากพนักงานของโจทก์ที่ 2 ระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนโฉนดที่ดิน 7 ฉบับ และสัญญากู้ยืมเงิน 1 ฉบับ แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า คำขอที่ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดิน 7 ฉบับ แก่โจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่า โจทก์ที่ 1 ขอสินเชื่อจากจำเลยในวงเงินจำนวน 1,000,000บาท โดยโจทก์ที่ 1 นำเช็คไปขายลดให้แก่จำเลยมีระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2532 โจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยในวงเงินจำนวน 1,000,000 บาท กับมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3382 และ 23867 ถึง 23872 ตำบลทรายกองดินอำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร รวม 7 ฉบับไว้เป็นประกันการขายลดเช็ค เมื่อสัญญาขายลดเช็คสิ้นสุดลงในวันที่ 12 ธันวาคม 2533 โจทก์ทั้งสองไม่มีหนี้สินค้างชำระแก่จำเลยและได้ขอโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ และสัญญากู้คืนแล้วแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2538 หรือไม่ เห็นว่า คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2538 โจทก์ที่ 2 ฟ้องโดยมีโจทก์ที่ 1เข้าเป็นโจทก์ร่วม ขอให้บังคับจำเลยคืนคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงินและโฉนดที่ดินรวม 7 ฉบับ ที่โจทก์ที่ 2 มอบให้จำเลยไว้เป็นการประกันหนี้เงินกู้ ในข้อที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินและโจทก์ที่ 1 ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2538 เอกสารหมาย จ.31 ว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีไว้แล้วว่า โจทก์ทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมไม่อาจเรียกเอาโฉนดที่ดินที่วางไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมจากจำเลยได้ จึงพิพากษายกคำขอที่ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ ส่วนคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงิน ศาลฎีกาในคดีก่อนวินิจฉัยว่า จำเลยเอาสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับของโจทก์ที่ 2 ไปจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับดังกล่าวเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงเอกสารดังกล่าวไว้จึงต้องคืนให้โจทก์ที่ 2 จนคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ ดังกล่าว และสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวกันนั้นอีกด้วยความประสงค์เช่นเดิม เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้ในคดีก่อนโจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวโดยมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ นั้นแก่จำเลยเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม และโจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นเช็คแก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยมาขอสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับจากพนักงานของโจทก์ที่ 2 โดยอ้างว่าจะคืนให้แล้วไม่คืนส่วนในคดีนี้โจทก์ทั้งสองกลับอ้างว่าโจทก์ที่ 2 ขอสินเชื่อจากจำเลยโดยวิธีนำเช็คของโจทก์ที่ 1 ไปขายลดให้แก่จำเลยและโจทก์ที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้จำเลยไว้โดยไม่มีการมอบเงินกันจริง พร้อมทั้งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ ให้จำเลยไว้เป็นประกันหนี้ขายลดเช็คดังกล่าวและอ้างว่า สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีหนี้ติดค้างต่อจำเลยก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองก็คงอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คือโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ และสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยยึดถือไว้ให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปในคดีก่อนแล้วมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้อีก ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2538ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
พิพากษายืน

Share