แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีเหตุที่จำเลยจะไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่มีคำสั่งเลิกจ้างจนถึงวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 เป็นเวลา 44 วัน
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับสินจ้างหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวม 60 วัน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121 วรรคสอง และชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 1 เดือน แต่ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยังมิได้ใช้บังคับ อุทธรณ์ของโจทก์พออนุโลมได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ทวิ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างด้วยเหตุผลตามที่ข้อ 46 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 1 เดือน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรับรองสิทธิดังกล่าวไว้
การที่มีผู้ร่วมกันยักยอกเงินค่าสุราต่างประเทศของจำเลยไป แม้มิได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ หรือสืบเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ตาม แต่ผู้ที่ร่วมกันยักยอกเงินดังกล่าวเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นภายในหน่วยงานที่โจทก์รับผิดชอบย่อมมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ภายในหน่วยงานของโจทก์ต้องมีข้อบกพร่องและทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อันสืบเนื่องมาจากสาเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 100,605 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 201,209.40 บาท และค่าเสีหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าน้ำมันรถที่จำเลยอนุมัติจ่ายให้แก่โจทก์มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานและมีอัตราเท่ากันทุกเดือน ค่าน้ำมันรถดังกล่าวจึงเป้นค่าจ้างอย่างหนึ่ง โจทก์ได้รับค่าจ้างเป้นเงินเดือน เดือนละ 27,570 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 965 บาท และค่าน้ำมันรถเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 33,535 บาท การที่นางสาวสกุลรัตน์ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีกับนายเกรียงศักดิ์ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินได้ร่วมกันยักยอกเงินค่าสุราต่างประเทศที่นายเกรียงศักดิ์เก็มาจากลูกค้าของจำเลยนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อหรือฝ่าฝืนระบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วย แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาของนายเกรียงศักดิ์และนางสาวสกุลรัตน์น่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ย่อมทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจที่จะให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 49,184.54 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 201,209.40 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีเหตุที่จำเลยจะไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน ฉะนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่มีคำสั่งเลิกจ้างจนถึงวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เป็นเวลา 44 วัน รวมเป็นเงิน 49,184.54 บาท ส่วนอุทธรณ์โจทก์ที่ว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับสินจ้างหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวม 60 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121 วรรคสอง และชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 1 เดือน นั้น ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยังมิได้ใช้บังคับ อย่างไรก็ดีอุทธรณ์ของโจทก์พออนุโลมได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ทวิ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวันตามข้อ 46 ทวิ วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง และนายจ้างมิได้แจ้งวันที่เลิกจ้างและเหตุผลของการเลิกจ้างให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อ 46 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างด้วยเหตุผลตามที่ข้อ 46 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 1 เดือน ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรับรองสิทธิตามที่โจทก์กล่าวอ้างอีกเช่นเดียวกัน ศาลแรงงานกลางกำหนดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า การที่นายเกรียงศักดิ์และนางสาวสกุลรัตน์ร่วมกันยักยอกเงินค่าสุราต่างประเทศของจำเลยไป มิได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์หรือสืบเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ตาม แต่นายเกรียงศักดิ์และนางสาวสกุลรัตน์ต่างเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นภายในหน่วยงานที่โจทก์รับผิดชอบย่อมมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ภายในหน่วยงานของโจทก์ต้องมีข้อบกพร่องและทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจโจทก์ที่จะปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์อันสืบเนื่องมาจากสาเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.