แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมที่ดินพิพาทยังมิได้ออกโฉนดที่ดิน แม้ว่าบิดามารดาผู้ร้องและผู้ร้องครอบครองก็ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ จะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินเท่านั้น ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทมีโฉนดที่ดิน
ทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2508 โดยม.มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ หลังจากปี 2508 ช.และผู้ร้องก็อยู่ร่วมบ้านเดียวกันโดยอาศัยสิทธิของ ม. แม้เมื่อปี 2515 ผู้ร้องจะได้ปลูกบ้านขึ้นใหม่เลขที่ 17/1 แทนบ้านเดิมบนที่ดินพิพาทและอยู่ต่อมาโดย ม.มิได้ว่ากล่าว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอาศัยสิทธิของ ม.ครั้นปี 2523 ม. ขายที่ดินโฉนดที่พิพาทให้แก่บริษัท ส. ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแม้จะปรากฏว่าในปี 2524 ม.ได้รื้อบ้านของตนออกจากที่ดินพิพาทไปปลูกบ้านขึ้นใหม่และมารดาผู้ร้องได้ย้ายออกไปอยู่ที่บ้านที่ปลูกขึ้นใหม่ด้วย ส่วนผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาประมาณ 15 ปี ก็ฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเพราะ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อแล้ว อ. ฝากให้ ม. ช่วยดูแล ม.จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาอยู่อาศัย จึงต้องถือว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนบริษัท ส. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอยู่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาช้านานเท่าใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านขึ้นมา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้านย่อมมีฐานะเป็นจำเลย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องได้
ตามคำคัดค้านและฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านระบุว่า ผู้ร้องไม่ได้เข้าทำประโยชน์ใด ๆ ในที่ดิน เพียงแต่พักอาศัยอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิของ ม. และบ้านดังกล่าวมีบริเวณเพียง 100 ตารางวา เห็นได้ว่า ผู้คัดค้านมิได้คัดค้านเฉพาะบริเวณบ้านที่ผู้ร้องอยู่อาศัย แต่คัดค้านที่ดินส่วนที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ว่าผู้ร้องมิได้ใช้ทำประโยชน์อะไร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา โดยไม่มีสิทธิย่อมทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ร้องชดใช้แก่ผู้คัดค้านเดือนละ 10,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 8772 เฉพาะส่วน เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ และขอให้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว ทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในส่วนของผู้ร้องออกเป็นโฉนดที่ดินใหม่และใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนบ้านซึ่งปลูกบนที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท
ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 17/1 ออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8772 และให้ผู้ร้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านเดือนละ 10,000 บาทนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2538 จนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารกับรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนผู้คัดค้านกับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านระบุในช่องคู่ความว่า นางอาภรณ์ และนายประกิจผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ผู้คัดค้าน และบรรยายว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 8772 ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อไป ขอให้บังคับผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนบ้านเลขที่ 17/1 ออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 8772 การฟ้องแย้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยได้แสดงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องแย้งของผู้คัดค้านไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องต่อไปว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกตามกรอบเส้นสีแดงในแผนที่วิวาทเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา จนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องอ้างว่าบิดามารดาผู้ร้องครอบครองอยู่นั้นยังมิได้ออกโฉนดที่ดิน แม้ว่าบิดามารดาผู้ร้องและผู้ร้องครอบครองก็ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ จะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินเพราะที่ดินมีโฉนดที่ดินเท่านั้นที่บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทมีโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2508 โดยนายม่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ หลังจากปี 2508 นายม่อมกับนางเชื้อและผู้ร้องก็อยู่ร่วมบ้านเดียวกันในที่ดินแปลงดังกล่าว การอยู่ในที่ดินพิพาทในระหว่างนั้นผู้ร้องและนางเชื้อจึงอยู่โดยอาศัยสิทธิของนายม่อม แม้เมื่อปี 2515 ผู้ร้องจะได้ปลูกบ้านขึ้นใหม่เลขที่ 17/1 แทนบ้านเดิมบนที่ดินพิพาทและอยู่ต่อมาโดยนายม่อมมิได้ว่ากล่าวก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอาศัยสิทธิของนายม่อมอยู่ดี ไม่ได้ปรปักษ์ต่อสิทธิของนายม่อม ครั้นปี 2523 นายม่อมขายที่ดินโฉนดที่ 8772 ให้แก่บริษัทสุโขการเคหะ จำกัด ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน แม้จะปรากฏว่าในปี 2524 นายม่อมได้รื้อบ้านเลขที่ 34 ออกจากที่ดินพิพาทไปปลูกบ้านขึ้นใหม่ห่างจากเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร โดยยังใช้บ้านเลขที่ 34 อยู่เหมือนเดิมและมารดาผู้ร้องได้ย้ายออกไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 34 ที่ปลูกขึ้นใหม่ด้วยส่วนผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาประมาณ 15 ปีก็ตาม ก็ฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเพราะนายม่อมพยานผู้ร้องตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านยอมรับว่า เมื่อพยานขายที่ดินโฉนดที่ 8772 ให้แก่นายอนันต์แล้ว นายอนันต์ยังไม่ได้เข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินและฝากให้พยานช่วยดูแลด้วย พยานจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาอยู่อาศัย จึงต้องถือว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนบริษัทสุโขการเคหะ จำกัด เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิยช์ มาตรา 1381 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอยู่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาช้านานเท่าใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้คัดค้านในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายได้ เพราะเมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านขึ้นมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (4) ให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้านย่อมมีฐานะเป็นจำเลย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อสุดท้ายมีว่า ผู้คัดค้านเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด โดยผู้ร้องฎีกาว่าตามคำคัดค้าน ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียง 100 ตารางวา เท่านั้น ค่าเสียหายไม่ควรเกิน 100 บาท ต่อเดือนเห็นว่า ตามคำคัดค้านและฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านระบุในข้อ 5 ว่า ผู้ร้องไม่ได้เข้าทำประโยชน์ใด ๆ ในที่ดิน เพียงแต่พักอาศัยอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิของนายม่อม และบ้านดังกล่าวมีบริเวณเพียง 100 ตารางวา เท่านั้น เห็นได้ว่า ผู้คัดค้านมิได้คัดค้านเฉพาะบริเวณบ้านที่ผู้ร้องอยู่อาศัยแต่คัดค้านที่ดินส่วนที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ว่าผู้ร้องมิได้ใช้ทำประโยชน์อะไร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา โดยไม่มีสิทธิย่อมทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ร้องชดใช้แก่ผู้คัดค้านเดือนละ 10,000 บาทนั้น เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.