คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำให้แก่โจทก์ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้ครบตามกำหนดเป็นเวลาถึง 8 เดือน จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง แม้จะปรากฏว่าในเวลาต่อมาจำเลยได้ส่งเงินที่ค้างชำระอยู่นั้นทั้งหมดไปให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับแล้วนำคดีมาฟ้องก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ได้
บันทึกข้อความท้ายหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยมีว่า ‘การชำระงวดนั้นข้าพเจ้านายชัยชิดชอบ ขอรับรองว่าเมื่อทางโรงงานสามารถจำหน่ายหินได้เป็นเงินก้อนหรือทางบริษัทเอื้อวิทยาสามารถให้ทางโรงงานศิลาชัยส่งหิน 3 ให้การรถไฟได้ จะส่งชำระแทนจนครบจำนวนที่ค้างหนี้ เพราะถือว่าบริษัทได้มีความกรุณามาก ขอยืนยันรับสภาพหนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ’ แล้วจำเลยลงชื่อไว้ท้ายบันทึกดังกล่าวแต่ฝ่ายเดียว เช่นนี้เป็นเพียงคำรับรองยืนยันการชำระหนี้ของจำเลยฝ่ายเดียวต่อโจทก์เท่านั้น มิใช่เรื่องที่โจทก์ให้สิทธิจำเลยที่จะเลือกชำระหนี้ได้
หนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งบุคคลธรรมดาได้ทำขึ้น เป็นใบรับรองหนี้เป็นตราสารที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2508-2509 จำเลยได้ซื้อสินค้าและได้เช่ารถแทร็กเตอร์ รถเจาะหินพร้อมพนักงานประจำรถของโจทก์ไปดำเนินการเจาะและระเบิดหินเพื่อประโยชน์ในกิจการโม่ของจำเลยคิดเป็นเงินที่จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 114,780 บาท จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ไว้ โดยจะผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์อย่างน้อยเดือนละ1,000 บาท ทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ และจะผ่อนชำระครั้งแรกภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2513 และภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปทุกเดือนปรากฏตามสำเนาเอกสารหมายเลข 4 ท้ายฟ้อง แต่จำเลยก็ไม่ผ่อนชำระตามกำหนด ครั้นวันที่ 12 มิถุนายน 2515 จำเลยได้ส่งดร๊าฟของธนาคารฯจำนวน 4,000 บาท ไปชำระหนี้โจทก์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2515 ต่อจากนั้นจำเลยมิได้ผ่อนชำระแก่โจทก์อีกเลย จำเลยจึงผิดนัด เมื่อรวมจำนวนเงินที่จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว20,000 บาท จำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ 94,780 บาท ต่อมาในเดือนมกราคม 2516 ทนายโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระ แต่จำเลยก็เพิกเฉยจึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้หนี้จำนวนเงิน 94,780 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2508 จำเลยได้ตกลงซื้อเครื่องเจาะหินและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากบริษัทโจทก์โดยขอผ่อนชำระเป็นงวดตามที่ขายหินได้จำเลยได้ส่งเงินชำระหนี้โจทก์เรื่อยมา เมื่อตรวจสอบบัญชีกันแล้วปรากฏว่าจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ 114,780 บาท จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่บริษัทโจทก์ไว้ แต่การชำระเงินนั้นขอผ่อนชำระเป็นงวดตามที่ตกลงไว้แต่เดิม ข้อตกลงนี้ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญา ต่อมาประมาณกลางปี พ.ศ.2513บริษัทโจทก์ประมูลขายหินให้แก่การรถไฟได้ จำเลยจึงขอชำระหนี้ที่ค้างเป็นหินโดยจำเลยจะขอส่งหินให้แก่การรถไฟแทนบริษัทโจทก์เท่าจำนวนคิดเป็นเงินที่ติดค้างบริษัทโจทก์อยู่ บริษัทโจทก์ตกลงและขอให้จำเลยทำหนังสือให้ไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เกี่ยวกับการส่งหินให้การรถไฟแทนการชำระหนี้นั้น จำเลยเองพร้อมที่จะปฎิบัติตามข้อตกลง แต่บริษัทโจทก์หาได้ปฎิบัติตามสัญญาแต่ประการใดไม่ บริษัทโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเองบริษัทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ปฎิบัติตามสัญญาตลอดมาโดยได้ส่งเงินชำระหนี้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน 28,000 บาท คือได้ส่งมาถึงเดือนกุมภาพันธ์2516 ครบตามจำนวนเดือนทุกประการ กล่าวคือครั้งสุดท้ายจำเลยได้ส่งให้บริษัทโจทก์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 โดยส่งเข้าบัญชีโจทก์ทางธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด สาขาพระพุทธบาทสระบุรี อันเคยปฎิบัติต่อกันมา ปรากฏตามเอกสารท้ายคำใหการหมายเลข 1 – 2 จำเลยจึงไม่ผิดนัดเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ที่จำเลยทำไว้กับบริษัทโจทก์นั้น เป็นการชำระหนี้ที่จำเลยจะเลือกเอาระยะเวลาใดชำระก็ได้ และจำเลยก็ได้ปฏิบัติการชำระตลอดมา โจทก์เองกลับไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต

ชั้นชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้อง แต่จำเลยได้สั่งตั๋วแลกเงินจำนวน 8,000 บาทโดยทางไปรษณีย์ตอบรับไปชำระหนี้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2516 อันเป็นการชำระหนี้ประจำเดือนกรกฎาคม 2515ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2516 ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมายเลข 4 ท้ายฟ้อง แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทโจทก์ไม่ยอมรับก่อนฟ้องคดีนี้ทนายโจทก์ได้มีหนังสือเตือนจำเลยแล้วแต่จำเลยไม่ผิดนัด เพราะจำเลยมีสิทธิเลือกชำระหนี้ตามหมายเหตุในเอกสารรับสภาพหนี้หมายเลข 4 ท้ายฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 94,780 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความ 1,000 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บันทึกข้อความท้ายหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ว่า “การชำระงวดนั้นข้าพเจ้านายชัย ชิดชอบ ขอรับรองว่าเมื่อทางโรงงานสามารถจำหน่ายหินได้เป็นเงินก้อน หรือทางบริษัทเอื้อวิทยาสามารถให้ทางโรงงานศิลาชัยส่งหิน 3 ให้การรถไฟได้ จะส่งชำระแทนจนครบจำนวนที่ค้างหนี้เพราะถือว่าบริษัทได้มีความกรุณามาก ขอยืนยันรับสภาพหนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ”นั้น เห็นว่าเป็นคำรับรองยืนยันการชำระหนี้ของจำเลยฝ่ายเดียวต่อโจทก์เท่านั้นหามีข้อความตอนใดที่โจทก์ให้สิทธิจำเลยที่จะเลือกชำระหนี้ได้ไม่ฉะนั้นจำเลยจึงเถียงไม่ขึ้นว่าตนมีสิทธิที่เลือกชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้

ที่จำเลยฎีกาข้อสองว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้องร้องคดีนี้โดยที่ไม่ยอมรับการชำระหนี้จำนวนเงิน 8,000 บาท ของจำเลย นั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าจำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตรงตามเวลาที่กำหนดในหนังสือรับสภาพหนี้ เริ่มแต่เดือนกรกฎาคม 2515 ถึงเดือนกุมภาพันธ์2516 รวม 8 เดือน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 นั้นเอง จำเลยจึงได้ส่งเงินจำนวน 8,000 บาท ไปชำระให้บริษัทโจทก์ ฉะนั้นการที่บริษัทโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้จำนวน 8,000 บาท แล้วนำคดีมาฟ้องนั้น จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้อง

ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้เฉพาะตราสารใบรับรองหนี้ที่บริษัทสมาคมคณะบุคคลหรือองค์การใด ๆ เท่านั้น เป็นผู้ทำจึงต้องปิดอากรแสตมป์ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องนี้เป็นใบรับรองหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้ทำขึ้น จึงเป็นตราสารที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรและรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้าม

ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

Share