คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 309, 310, 340, 340 ตรี, 371, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนของกลางกับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 163,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นจำยอมต่อสิ่งใดหรือไม่กระทำการใด หน่วงเหนี่ยวกักขังและทำร้ายร่างกาย เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 18 ปี ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท รวมทุกกระทง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 19 ปี และปรับคนละ 100 บาท ริบอาวุธปืนของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นให้ยก กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 43,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310, 371
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 371, 83 ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นจำยอมต่อสิ่งใดหรือไม่กระทำการใด หน่วงเหนี่ยวกักขังและทำร้ายร่างกาย เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 18 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 43,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 กับพวกหลายคนได้ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและปล้นทรัพย์นายรังสรรค์ ผู้เสียหาย คดีสำหรับจำเลยที่ 6 ศาลล่างทั้งสองยกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา คดีเป็นอันยุติ ส่วนข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน จึงลงโทษในข้อหาความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวไม่ได้ โดยโจทก์ไม่ฎีกาต่อมา ปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์และพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ และที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาขอให้ลดโทษเพราะมีเหตุบรรเทาโทษลงกึ่งหนึ่ง สำหรับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น คดีส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่แก้ไขโทษซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษนั้นเป็นเพียงโทษปรับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ลดโทษในความผิดฐานนี้อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 นั้น เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษความผิดฐานนี้ในฐานที่เป็นบทเบารวมมากับฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ในฐานที่เป็นบทหนักที่สุดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งสองฐาน กรณีก็ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ อันจะทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษเพียงความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แม้เป็นเพียงโทษปรับก็เป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษากลับกันมา ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่ผู้เสียหายกับนายวิรุณ พยานโจทก์ขับรถกระบะแล่นเข้ามาจอดเป็นลานจอดรถของปั๊มน้ำมันเชลล์ริมถนนแจ้งวัฒนะ โดยถัดจากปั๊มน้ำมันลึกเข้าไปเป็นห้างแม็คโคร สาขาแจ้งวัฒนะ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีแสงไฟจากโคมไฟของลานจอดรถ และตามคำเบิกความของนายวิรุณปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีแสงไฟจากหลอดไฟริมถนน สอดคล้องตรงกับที่ปรากฏในรูปถ่าย ที่ผู้เสียหายและนายวิรุณนำชี้ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้ ผู้เสียหายและนายวิรุณจึงมีโอกาสสังเกตเห็นคนร้ายที่เข้ามาประกบระหว่างที่ผู้เสียหายกับนายวิรุณกำลังจะพ่วงสายแบตเตอรี่จากรถกระบะของพวกตนเข้ากับแบตเตอรี่ของรถยนต์เก๋งที่จอดเปิดฝากระโปรงอยู่ ผู้เสียหายและนายวิรุณจำได้ว่า นอกเหนือจากจำเลยที่ 2 แล้ว มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 อยู่ด้วย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนของกลางจ่อศีรษะผู้เสียหาย ผู้เสียหายถูกจับกดลงกับพื้นและใส่กุญแจมือไขว้หลังพร้อมกับมีผ้ามาผูกตาไว้ นายวิรุณเห็นผู้เสียหายถูกจับไปไว้ที่บริเวณท้ายรถแท็กซี่ ส่วนนายวิรุณถูกจับเข้าไปในห้องโดยสารของรถกระบะของผู้เสียหาย โดยถูกจับกดหน้าลงกับพื้นตรงเบาะหลังคนขับ ระหว่างที่รถแท็กซี่แล่นออกไปผู้เสียหายหายใจไม่ออก พยายามใช้เท้าถีบฝากระโปรงรถ รถจอดแล้วผู้เสียหายถูกพาไปไว้ที่เบาะหลังและกดศีรษะลงกับพื้น รถมาจอดที่สถานที่แห่งหนึ่ง ผู้เสียหายถูกปลดผ้าผูกตาออก พบว่าเป็นบ้านหลังหนึ่งมีลักษณะเป็นอู่ซ่อมรถ ผู้เสียหายลงมาจากรถ เห็นจำเลยที่ 5 อยู่ที่นั่นด้วย นอกเหนือจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่นั่งมาในรถแท็กซี่ โดยอาศัยแสงไฟจากหลอดนีออนภายในบ้าน ส่วนรถกระบะของผู้เสียหายก็แล่นเข้าจอดด้วยเช่นกัน นายวิรุณเห็นจำเลยที่ 5 เดินมาที่รถกระบะเข้ามานั่งที่เบาะนั่งข้างคนขับ มีจำเลยที่ 1 เป็นคนขับ ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ควบคุมตัวผู้เสียหายขึ้นรถแท็กซี่ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ ผู้เสียหายถูกจับให้คว่ำหน้าลงกับพื้น ระหว่างทางที่นายวิรุณนั่งมาในรถกระบะ หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกนำมาที่สถานที่แห่งหนึ่ง บริเวณรอบข้างเป็นทุ่งนาและสวนผัก โดยมีรถยนต์ตู้และรถกระบะของผู้เสียหายแล่นมาจอดด้วย นายวิรุณถูกพาออกมาจากห้องโดยสารของรถกระบะของผู้เสียหายให้มานอนคว่ำหน้าอยู่ที่กระบะตอนท้าย ผู้เสียหายถูกทำร้ายโดยถูกใช้เท้าเตะและกระทืบตามร่างกายก่อนที่จะถูกปลดเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ไป อาทิ สร้อยคอ บัตรเอทีเอ็ม โดยนายวิรุณได้ยินเสียงร้องของผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายถูกพามาที่บริเวณทุ่งนา ตามคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏว่า สามารถมองเห็นหน้าคนร้ายได้จากแสงจันทร์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 บังคับให้ผู้เสียหายถอดเสื้อออกและใช้เข็มขัดตีตามร่างกายเพื่อให้บอกรหัสเอทีเอ็ม มีจำเลยที่ 5 เข้ามาถามด้วยว่า “รหัสมึงคืออะไร” เมื่อผู้เสียหายว่าไม่รู้ รหัสอยู่ที่ภริยา จำเลยที่ 5 พูดต่อว่า “ให้นวด” ซึ่งหมายถึงให้ทำร้ายต่อ สอดคล้องตรงกับคำเบิกความของนายวิรุณว่า ระหว่างนี้ได้ยินเสียงร้องของผู้เสียหายที่ถูกบังคับให้บอกรหัสเอทีเอ็มของผู้เสียหายด้วย เป็นเหตุให้นายวิรุณเงยหน้าขึ้นมามอง หลังจากไม่อาจคาดคั้นเอารหัสเอทีเอ็มได้แล้ว ผู้เสียหายและนายวิรุณถูกนำมานอนที่กระบะตอนท้ายแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับรถกระบะของผู้เสียหายออกไป โดยปล่อยผู้เสียหายและนายวิรุณคนละแห่งกัน แล้วจำเลยที่ 1 นำรถกระบะไปซุกซ่อนไว้ที่บ้านของตน ผู้เสียหายและนายวิรุณจึงมีโอกาสเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ ทั้งยังได้มีโอกาสเห็นรูปถ่ายของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ดังปรากฏในรายการข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูหลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน และเนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ถูกปล้นเอาไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 มีการเปลี่ยนใช้ซิมการ์ดใหม่ ทำให้มีการแจ้งหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขใหม่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางวันวิสาข์ บุตรสาวผู้เสียหาย พยานโจทก์ ตามที่ตั้งระบบติดตามเครื่องโทรศัพท์ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว จนเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าคนร้ายเป็นใครบ้าง แล้วนำรูปถ่ายมาให้ผู้เสียหายและนายวิรุณดูในขณะที่ความจำยังใหม่อยู่ ยังไม่ลืมเลือนไป ไม่มีข้อสงสัยว่าบุคคลทั้งสองจะจดจำผิดพลาดไปได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพว่า ในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายมีจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดด้วยโดยทำหน้าที่ขับรถยนต์ตู้ติดตามกันไปกับรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้คนร้ายอื่นโดยสารและคอยดูลาดเลาให้ แม้จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนแต่ก็รับว่าขับรถยนต์ตู้มารอจำเลยที่ 1 ที่ลานจอดรถของห้างแม็คโคร สาขาแจ้งวัฒนะ เห็นเหตุการณ์ที่มีการจับผู้เสียหายใส่ในท้ายรถแท็กซี่ ทั้งขับรถยนต์ตู้นำให้รถของจำเลยที่ 1 ว่ามีด่านตำรวจหรือไม่ และร่วมมาที่บ้านของจำเลยที่ 5 และมีส่วนพาผู้เสียหายไปทำร้ายอีกด้วย แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีลักษณะเป็นคำซัดทอดของคนร้ายด้วยกัน ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งโดยลำพังไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของนายวิรุณยังปรากฏด้วยว่า ในบรรดาคนร้ายหลายคนด้วยกันมีจำเลยที่ 4 อยู่ด้วย เมื่อนำมาพิจารณาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นตัวการในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 กระทำความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทวุฒิชัย พนักงานสอบสวน ปรากฏว่าอาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) โดยทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติก ดังนั้น เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติก จึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก เมื่อลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว ให้จำคุกคนละ 15 ปี และเมื่อลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share