แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานะกรรมการทำหนังสือมอบอำนาจทั่วไปให้จำเลยที่ 5 ลงนามแทนในธุรกิจหลายอย่างรวมทั้งลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินและฝากเงินตามระบบบัญชีเดินสะพัดของบริษัท ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะเช็คพิพาท ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 5ออกเช็คพิพาทแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่มีส่วนร่วมออกเช็คด้วย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยอาศัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวการในการกระทำความผิด จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ลงนามในเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ก่อนจะเกิดความผิดในคดีนี้และพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมออกเช็คพิพาทกับจำเลยที่ 5ด้วยอย่างไร
ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะกรรมการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีตัวตนลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจให้ทำแทนเท่ากับเป็นผู้แทนกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 และการลงชื่อมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ย่อมมีผลในตัวว่าเป็นตัวการร่วมด้วยนั้น เห็นว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 (แผ่นที่ 4) เป็นการมอบอำนาจทั่วไปของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 5ลงนามแทนในธุรกิจหลายอย่างรวมทั้งลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินและการฝากเงินตามระบบบัญชีเดินสะพัดของบริษัท ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะเช็คพิพาทฉะนั้นเพียงแต่การลงนามในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีส่วนร่วมในการออกเช็คพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีมูลตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”