คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6853/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องในเงินค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างทำของในข้อที่ไม่ชำระหนี้เลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ้างผู้อื่นมาทำการงานแทนนั้น จำเลยได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 วันครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 ตามสัญญาข้อ 4 คือ วันที่ 3 ตุลาคม 2522 ดังนั้นจำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2522 โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและบังคับตามสิทธิเรียกร้องกับจำเลยได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดดังกล่าว อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 163 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 นับจากวันที่ 4 ตุลาคม 2522 ถึงวันฟ้องเกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขไหม่) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 เดิม (มาตรา 193/10ที่แก้ไขใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมิได้ลงมือทำงานตามสัญญาจ้างย่อยและขนส่งหินคลุกจนพ้นกำหนดระยะเวลาที่ตกลงจ่ายเงินงวดแรก โจทก์ได้เตือนจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและว่าจ้างบริษัทหาญเจริญเอนเตอร์ไพรส์เชียงราย จำกัด ทำงานดังกล่าวจนแล้วเสร็จโจทก์ต้องจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เป็นเงินเกินกว่าที่จ้างจำเลยจำนวน804,678 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวันในอัตราวันละ 400 บาท รวม 134 วัน คิดเป็นเงิน 53,600 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายที่จ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น รวมเป็นเงิน 858,278 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติงานตามสัญญาที่มีต่อโจทก์ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาทุกประการ แต่โจทก์ไม่ยอมรับงานที่จำเลยทำทั้งไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลย เพราะโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากจะปรับก็ปรับได้ไม่เกินวันละ 10 บาท ค่าปรับขาดอายุความแล้วเพราะเป็นการปรับอันเกิดจากการจ้างแรงงาน ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าเสียหายเนื่องจากจ้างบุคคลอื่นมาทำงานสูงเกินความเป็นจริงและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 804,678 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 775,939.50 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยให้ทำการย่อยและขนส่งหินคลุกกองรายทาง ใช้ทำงานราดยางในทางหลวงหมายเลข 2214จำนวน 4,998 ลูกบาศก์เมตร ค่าจ้าง 574,770 บาท กำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นงวดรวม 2 งวดงวดที่ 1 เป็นเงิน 287,385 บาท เมื่อจำเลยทำการย่อยและขนส่งหินคลุกได้ไม่น้อยกว่า 2,499 ลูกบาศก์เมตร และคณะกรรมการตรวจรับงานเรียบร้อยแล้วภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 งวดที่ 2 เป็นเงิน287,385 บาท เมื่อจำเลยได้ทำการย่อยและขนส่งหินคลุกส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ในการนี้จำเลยได้นำเงินจำนวน 28,738.50 บาท มาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา หากจำเลยไม่ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจ้างผู้อื่นทำงานต่อจากจำเลยและเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างบุคคลอื่นทำงานนี้ต่อจนงานเสร็จและเรียกค่าเสียหายปรากฎรายละเอียดตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ป.จ.4 ของศาลแพ่งหลังจากทำสัญญาแล้ว ปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงมือทำงานตามสัญญาจนพ้นกำหนดระยะเวลาที่ตกลงจ่ายเงินงวดที่ 1 โจทก์ได้เตือนจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และว่าจ้างบริษัทหาญเจริญเอนเตอร์ไพรส์เชียงราย จำกัด ทำงานดังกล่าวจนเสร็จ ทำให้โจทก์ต้องเสียเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นเกินกว่าจ้างจำเลย 804,678 บาท เมื่อหักเงินวางค้ำประกันแล้วโจทก์ยังเสียหายอีกเป็นจำนวน 775,939.50 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ป.จ.4 ข้อ 4 ของศาลแพ่ง กำหนดให้จำเลยส่งมอบงานงวดที่ 1ให้เสร็จภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 และให้ส่งมอบงานงวดที่ 2ให้เสร็จภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 และตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 5 ระบุไว้ว่า “ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเริ่มลงมือทำงานจ้างณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 10 กันยายน 2522 และให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ดี หรือมีเหตุให้ผู้ว่าจ้างเชื่อได้ว่า ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาก็ดี หรือล่วงกำหนดเวลาแล้วเสร็จบริบูรณ์ไปแล้วก็ดี หรือผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญานี้ได้ และมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานนี้ต่อจากผู้รับจ้างได้ด้วย” สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จำนวนค่าเสียหายของโจทก์เกิดจากจำเลยประพฤติผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เลย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ้างให้ผู้อื่นมาทำการงานแทนจำเลย กล่าวคือ จำเลยได้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 วันครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 ตามสัญญาข้อ 4 คือวันที่ 3 ตุลาคม 2522 ดังนั้นจำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2522 โจทก์ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและบังคับตามสิทธิเรียกร้องกับจำเลยได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดดังกล่าว ดังนั้น อายุความจึงต้องเริ่มนับ แต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 เดิม (193/12 ที่แก้ไขใหม่) โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532 นับจากวันที่ 4 ตุลาคม 2522ถึงวันฟ้องเกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 เดิม (มาตรา 193/10 ที่แก้ไขใหม่)ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ

Share