คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำสืบว่ามีการทำสัญญาประกันภัยและระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากจำเลยผู้เอาประกันภัย ภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่มีการทำสัญญาประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 113,402.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 98,611 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 98,611 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 กรกฎาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า…
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคสอง เพราะมีการทำสัญญาประกันภัยวันที่ 6 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กรกฎาคม 2541 เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี นั้น เห็นว่า เฉพาะการประกันภัยรถยนต์บรรทุกเท่านั้นที่โจทก์นำสืบว่ามีการทำสัญญาประกันภัยและระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ส่วนการประกันภัยรถยนต์กระบะโจทก์นำสืบว่ามีการทำสัญญาประกันภัยและระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์กระบะจึงยังไม่เกินระยะเวลา 2 ปี นับแต่มีการทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กระบะดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 22,765 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share