แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 กับจำเลยทั้งห้าในราคา 2,000,000 บาท ต่อมาโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นให้จำเลยทั้งห้าแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 โดยจำเลยทั้งห้ายอมรับไว้ จึงเป็นการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งห้าไปเพียงบางส่วน เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เท่านั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ค่าที่ดินในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระอีก 640,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายเดิมได้
แม้สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินจะระบุว่า จำเลยทั้งห้าชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยทั้งห้าต้องชำระค่าที่ดินที่เหลือ แต่จำเลยทั้งห้ายังไม่ได้ชำระ กรณีถือได้ว่า โจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งพยานเอกสารนั้น อันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 640,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 500,000 บาท แก่จำเลยทั้งห้า
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เดิมจำเลยทั้งห้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนางฐิติวรรณตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยทั้งห้าวางเงินมัดจำและผ่อนชำระเงินดาวน์แล้วคนละ 252,000 บาท ต่อมามีการยกเลิกสัญญา นางฐิติวรรณตกลงคืนเงินมัดจำและเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งห้า ตามสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้ แต่นางฐิติวรรณไม่มีเงินชำระให้แก่จำเลยทั้งห้า ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้แก่จำเลยทั้งห้าในราคา 2,000,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวันที่ 19 มีนาคม 2541 ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ กำหนดชำระเงินในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 4 งวด ในวันที่ 19 เมษายน 2541 วันที่ 19 พฤษภาคม 2541 วันที่ 19 มิถุนายน 2541 และวันที่ 19 กรกฎาคม 2541 หากโจทก์ผิดนัดยินยอมใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขาย ครั้นถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปรากฏว่าไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งห้า แต่ในวันที่ 20 มีนาคม 2541 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โฉนดเลขที่ 18915 และ 18916 ให้แก่จำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 18928, 18929, 21807 และ 21808 ให้แก่จำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 18912 และ 18913 ให้แก่จำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 18905 และ 18906 ให้แก่จำเลยที่ 4 และโฉนดเลขที่ 18930, 18931, 21809 และ 21810 ให้แก่จำเลยที่ 5 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าต้องชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยทั้งห้าตกลงทำไว้กับโจทก์มานำสืบ และที่โจทก์เบิกความว่า ได้รับเงินค่าที่ดินที่จำเลยทั้งห้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปจำนวน 100,000 บาท ก็สอดคล้องกับข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวซึ่งระบุว่าจำเลยทั้งห้าต้องชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์งวดแรก 100,000 บาท ประกอบกับที่ดินที่จำเลยทั้งห้ารับโอนกรรมสิทธิ์ไปนั้นมีราคารวมกัน 2,195,000 บาท สูงกว่าราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 ที่โจทก์ตกลงจะขายให้แก่จำเลยทั้งห้าในราคา 2,000,000 บาท ทั้งได้มีการทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันรุ่งขึ้นจากที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 นั้นเอง จึงน่าเชื่อว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นตามสำเนาหนังสือขายที่ดินแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 โดยจำเลยทั้งห้ายอมรับไว้จึงเป็นการที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งห้าไปเพียงบางส่วนเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เท่านั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ค่าที่ดินในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระอีก 640,000 บาท ได้ที่จำเลยทั้งห้านำสืบว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตีใช้หนี้ และหนี้หมดสิ้นกันไปแล้วนั้น เห็นว่า แม้สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินจะระบุว่า จำเลยทั้งห้าชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบมามีน้ำหนัก ดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3968 โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยทั้งห้าต้องชำระค่าที่ดินที่เหลือ แต่จำเลยทั้งห้ายังไม่ได้ชำระ กรณีถือได้ว่า โจทก์ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งพยานนั้น อันเป็นการนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 ที่กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.