คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8578/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ มี ใช้… ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม… เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” การมี ทำ และใช้เครื่องรับและส่งวิทยุโทรคมนาคมเป็นความผิดในบทมาตราเดียวกัน จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมแล้วนำมาปรับแต่งคลื่นความถี่รับส่งนำออกให้ผู้อื่นเช่า เป็นการมีไว้เพื่อใช้ เป็นเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23, 26 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของกลางทั้งหมดเพื่อไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและริบของกลางอื่นทั้งหมดด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งวิทยุคมนาคม และช่วยซ่อนเร้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำและพาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร จำคุก 2 ปี ฐานทำเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 2 ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 2 ปี ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของกลาง เพื่อไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดของจำเลยตามฟ้องโจทก์เป็นการกระทำความผิดในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหลายกรรมจึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า ความผิดตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ก ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งวิทยุคมนาคมประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดมือถือจำนวน 6 เครื่อง ที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสีย รวมราคาและอากรเข้ารวมกันแล้วเป็นเงิน 7,980 บาท เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ แยกต่างหากจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ตั้งแต่ข้อ 1 ข ถึงข้อ ง ทั้งในแง่เจตนาของการกระทำ สภาพลักษณะของการกระทำและเวลาที่กระทำเป็นความผิดสำเร็จลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ กรรมหนึ่งมาจึงชอบแล้ว ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1 ข ถึง ข้อ ง นั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมตามฟ้องข้อ 1 ก และจำเลยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 2 เครื่อง ที่มีการจดทะเบียนนำเข้าแล้ว รวม 8 เครื่อง และได้นำมาทำการปรับเปลี่ยนและแต่งคลื่นความถี่รับส่งให้มีความถี่ของช่องสัญญาณของผู้มีชื่อที่ได้รับอนุญาตรวม 8 คน เพื่อนำไปให้ผู้อื่นนำไปเช่าใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ มี ใช้… ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม… เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” การมี ทำ และใช้เครื่องรับและส่งวิทยุโทรคมนาคมเป็นความผิดในบทมาตราเดียวกัน โดยจำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมแล้วนำมาปรับแต่งคลื่นก็เพื่อใช้ เป็นเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ส่วนความผิดฐานจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 นั้น เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดฐานมี ทำและใช้ ตามมาตรา 6 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในส่วนข้อ 1 ง แล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 26 ไว้ด้วย แต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 26 และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า จำเลยใช้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวโดยนำออกให้ผู้อื่นเช่าใช้เพื่อเก็บค่าเช่าหากำไรโดยทุจริต อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม แต่ก็ยังคงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ความผิดของจำเลยตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 จึงยุติไปแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีกต่อไป สรุปได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานรับไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ กรรมหนึ่ง และฐานมี ทำ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23 อีกกรรมหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิด 2 กรรม มิใช่ 4 กรรม ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2498 มาตรา 27 ทวิ ปรับ 31,920 บาท พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 23 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ปรับ 15,960 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5.

Share