คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 90,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระดอกเบี้ยทุก ๆ วันที่ 9 ของทุกเดือน กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 นับแต่จำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์ จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยค้างดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 ปีเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี คิดเป็นเงิน 67,500 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 157,500 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 120,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 90,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากตามสัญญากู้เงิน ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละครั้ง จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยและไม่ชำระต้นเงินคืน จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว และตามสัญญากู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใด โจทก์เรียกเงินต้นและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ถือได้ว่าระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เป็นเวลาเกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 90,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 9 ของเดือน และต้องชำระต้นเงินคืนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับ

Share