คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6828/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การมีไว้เพื่อขายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติว่าเป็นความผิดคงบัญญัติความผิดเฉพาะฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง,71 และเมื่อเป็นยาแผนปัจจุบันด้วย จึงเป็นความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง,101 อีกด้วย อันเป็นการกระทำกรรมเดียวต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งของเหลวสีน้ำตาล ซึ่งมีโคเดอีนที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วยอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 และเป็นยาแผนปัจจุบัน จำนวน 5 ขวด ปริมาตรรวม 2,500 มิลลิเมตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายโดยการจำหน่ายของเหลวสีน้ำตาล อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 และเป็นยาแผนปัจจุบันดังกล่าวจำนวน 1 ขวด ปริมาตร 500 มิลลิลิตร ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 500 บาท โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7, 20, 71 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ที่ถูกพระราชบัญญัติยา) พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 101 ริบของเหลวสีน้ำตาลของกลาง และคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 20, 71 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ที่ถูกพระราชบัญญัติยา) พ.ศ. 2510 มาตรา 40, 12, 101 ฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานจำหน่ายโคเคอีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน ริบของกลาง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง การมีไว้เพื่อขายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันตามฟ้องด้วยนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด คงบัญญัติความผิดเฉพาะฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 71 เมื่อเป็นยาแผนปัจจุบันด้วยจึงเป็นความผิดฐานขายยาแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 101 อีกด้วย ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ขาย” หมายความว่า ขายปลีก ขายส่ง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งยาแผนปัจจุบันของกลางดังกล่าวตามฟ้องในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกันจึงถือเป็นความผิดอย่างเดียวกันและเป็นการกระทำกรรมเดียวกันคือความผิดฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตทั้งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 71ดังกล่าว ซึ่งต้องปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 2 กรรม และมิได้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เพียงบทเดียวนั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้โดยไม่แก้ไขโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 71 พระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 101 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 101 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 เดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก คนละ 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share