คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6817/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์การประเมินนั้นก็เป็นยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการประเมินผิดพิกัดและอัตราอากร จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 แต่ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (1) เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเรียกหนี้ค่าภาษีอากร แต่เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่ถือว่าการประเมินเป็นที่ยุติแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระค่าอากรตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2542 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 จำเลยนำเข้าสินค้าประเภทกากกุ้งซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเรือผ่านด่านศุลกากรจังหวัดระนองจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 6601 0102 0104 และ 6601 0112 0042 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์โดยแสดงรายการสินค้าเป็นเงินจำนวน 51,250 บาท และ 27,900 บาท และสำแดงรายการชำระภาษีประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรร้อยละ 10 คิดเป็นอากรขาเข้าเป็นเงินจำนวน 5,125 บาท และ 2,790 บาท ตามลำดับ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2542 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ตามลำดับ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้ากากกุ้งซึ่งเป็นสินค้าที่จำเลยนำเข้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ได้มาจากการทำกุ้งแห้งประกอบด้วย ผง เศษหัว และเปลือกของกุ้ง จึงจัดเข้าประเภทพิกัด 0508.00 ในฐานะเป็นเปลือกของสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซียที่ยังไม่ได้จัดทำหรือทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวซึ่งต้องชำระอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 35 ของราคาสินค้า การที่จำเลยสำแดงประเภทพิกัด 2301.20 และชำระอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้านั้นไม่ถูกต้องตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เจ้าพนักงานจึงได้ประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าเพิ่มเติมโดยใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 6601 0102 0104 จำเลยต้องชำระเพิ่มจำนวน 12,812 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นเงิน 1,665.56 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 14,477.56 บาท และใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 6601 0112 0042 มีอากรต้องชำระ 20,475 บาท จำเลยต้องชำระอากรเพิ่มจำนวน 6,975 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 เป็นเงิน 837 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 7,812 บาท จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินทั้งสองฉบับแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินและไม่ชำระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินอากรขาเข้าที่ต้องชำระนับแต่วันตรวจปล่อยสินค้าจนถึงวันฟ้องจำนวน 128.62 บาท และ 69.75 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดชำระทั้งสิ้น 29,284.76 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 29,284.76 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 29,284.76 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของค่าอากรจำนวน 12,812 บาท และ 6,975 บาท ตามลำดับ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สินค้ากากกุ้งที่จำเลยนำเข้าจากประเทศพม่านั้นจัดเป็นสินค้าประเภทอาหารสัตว์หรือกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารหรือจัดทำไว้สำหรับเป็นอาหารสัตว์และมีลักษณะป่นจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 มิใช่ประเภทพิกัด 0508.00 ซึ่งสินค้าประเภทหลังต้องเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เปลือกกุ้ง ดังนั้น การที่จำเลยชำระอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้าจึงถูกต้องแล้ว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ประเมินสำนักงานด่านศุลกากรจังหวัดระนองซึ่งตรวจสภาพสินค้าที่จำเลยนำเข้าก็ย่อมรับและเรียกเก็บอากรขาเข้าในประเภทพิกัด 2301.20 และตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแล้วโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ประเมินดังกล่าวกระทำโดยทุจริต ดังนั้น การทักท้วงของผู้อำนวยการศุลกากรภาค 5 ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบสภาพสินค้าจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 29,284.76 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าอากรจำนวน 12,812 บาท และจำนวน 6,975 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2546) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางรับรองว่มีเหตุผลสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2542 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 จำเลยนำเข้าสินค้าประเภทกากกุ้งจากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรร้อยละ 10 และชำระค่าอากรเป็นเงิน 5,125 บาท และ 2,790 บาท ตามลำดับ พนักงานเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรจังหวัดระนองได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวให้จำเลยรับไปแล้วในวันนำเข้า ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเรียกเก็บค่าอากรเพิ่มเนื่องจากเห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรร้อยละ 35 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และมิได้ชำระค่าอากรตามการประเมิน โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กฎหมายให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินเช่นนี้ หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมิน การประเมินนั้นเป็นที่ยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดพิกัดและอัตราอากร จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง แม้คดีนี้จะมิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เนื่องจากจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันตามที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัย แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเรียกหนี้ค่าภาษีอากรก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่ถือว่าการประเมินนี้เป็นที่ยุติดังวินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระค่าอากรตามฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share