คำวินิจฉัยที่ 93/2563

แหล่งที่มา : สำนังานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้จำกัดเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นที่จะยื่นคำร้องได้ ทั้งไม่จำต้องเป็นคู่ความเดียวกันที่สลับกันเป็นคู่ความแต่ละฝ่ายในแต่ละศาล เมื่อผู้ร้องอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผลของคำวินิจฉัยที่ศาลต่างระบบรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำเดียวกันในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันขัดแย้งกันผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องได้ ส่วนกำหนดเวลาที่ให้ยื่นคำร้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาฉบับหลังถึงที่สุด หาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา การที่ศาลแต่ละระบบรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันซึ่งอาจแตกต่างกันกระทั่งขัดแย้งกันย่อมทำให้ผลของการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายนั้นส่งผลให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของแต่ละศาลขัดแย้งกันไปด้วย การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแต่ละระบบเป็นเหตุประการหนึ่งที่ผู้ร้องจักแสดงให้เห็นว่ามีความขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่แม้จะเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ก็มิใช่ข้อจำกัดที่จะเป็นเหตุให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ อ.๔๙๐/๒๕๖๐ ซึ่งขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขแดงที่ อ. ๗๙๖/๒๕๕๙ (ต่อมาโอนมาเป็นคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หมายเลขแดงที่ อท. (ผ) ๓๕/๒๕๕๙) ในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเหตุสืบเนื่องจากการที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการ ฐานประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕การที่ศาลยุติธรรมวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรและไม่ได้เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา คดีถึงที่สุด กับการที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการทั้งหมด แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า คำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ไล่ผู้ร้อง (ผู้ฟ้องคดี) ออกจากราชการและกระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาเพื่อลงโทษทางวินัยผู้ร้องทั้งหมดนั้นชอบด้วยกฎหมาย การวินิจฉัยข้อเท็จจริงทั้งในศาลปกครองและในศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การปลอมเอกสาร ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันนั้นเป็นกรณีที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันนี้ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมฉบับที่ผู้ร้องอ้าง ประกอบกับการที่ผู้ร้องมีคำขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ได้ทุจริตจากการแก้ไขเอกสารราชการ ตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมเพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำพิพากษาและยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๖๕/๒๕๕๕ อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องมุ่งหมายให้ถือตามผลของคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับที่ผู้ร้องขอให้บังคับนั้นมิใช่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการไม่รับวินิจฉัย
แม้การรับฟังข้อเท็จจริงกรณีผู้ร้องมีพฤติการณ์อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ผู้ร้องอ้างเป็นเหตุหลักในคำร้องจะเป็นกรณีที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ว่าคณะกรรมการจะวินิจฉัยให้ในทางใด ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการในส่วนนี้ก็ไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในส่วนอื่น กรณีไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาของศาลใด จำหน่ายคดีจากสารบบความ

Share