คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6815/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสามซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มาตรา 7 บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด” มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง (1) แม้ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวจะยังไม่มีผลใช้บังคับก็ตามแต่ขณะที่ผู้ร้องยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ฎีกาของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่ม 12 หน้า 9 สารบบเล่ม 48 หน้า 44 เนื้อที่ 434 ไร่ 67 ตารางวา อยู่ที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรีจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมชำระหนี้รวม 12,223,724.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้โจทก์ภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้นเป็นของผู้ร้องโดยจำเลยเอาเงินส่วนแบ่งมรดกที่ผู้ร้องได้รับจากยายเมื่อปี 2518 ไปซื้อที่ดินไว้ให้ผู้ร้องแต่ใส่ชื่อจำเลยไว้แทนเนื่องจากขณะนั้นผู้ร้องอายุเพียง 7 ปี จะคืนให้ผู้ร้องเมื่อผู้ร้องบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยนำที่ดินไปจำนองโดยผู้ร้องมิได้ยินยอมด้วยขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด

โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้องขอ

ก่อนสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องว่าคำร้องขัดทรัพย์ไม่มีมูล ผู้ร้องยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ล่าช้า จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์เป็นเงิน 15,643,162 บาท สูงกว่าราคาประเมินของที่ดินพิพาท 15,282,696 บาทจำเลยมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระให้โจทก์ถึงปีละ 1,395,351.22 บาท ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องวางเงินต่อศาลเพื่อเป็นประกันความเสียหายที่โจทก์อาจได้รับเป็นเวลา4 ปี เป็นเงินอย่างต่ำ 5,500,000 บาท

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวตามรายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานบังคับคดีปรากฏว่ามีการยึดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 มีการประกาศขายทอดตลาดรวม 3 ครั้งแต่โจทก์ของงดการขายอ้างว่าจำเลยติดต่อขอชำระหนี้ ในที่สุดผู้ร้องก็ยื่นคำร้องขัดทรัพย์เป็นคดีนี้ แสดงให้เห็นว่าคำร้องขอไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า จึงให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ไม่ต่ำกว่า5,500,000 บาท ตามที่โจทก์ขอภายในเวลา 7 วัน

ต่อมาผู้ร้องมิได้วางเงินภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,000,000 บาทภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อผู้ร้องวางเงินภายในกำหนดก็ให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสาม ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มาตรา 7บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด”มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง (1) แม้ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวจะยังไม่มีผลใช้บังคับก็ตามแต่ขณะที่ผู้ร้องยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วคู่ความจะฎีกาได้หรือไม่จะต้องพิเคราะห์ตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะยื่นฎีกาและเมื่อบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด ฎีกาของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง

Share