คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตอนบนของเอกสารรายการขนสินค้าจากเรือระบุเพียงว่าบริษัทท.แต่ไม่ปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่าบริษัทท.เป็นตัวแทนของจำเลย และผู้ลงนามตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าเป็นผู้จดรายการก็ไม่ปรากฏว่าเป็นพนักงานของจำเลยหรือตัวแทนของจำเลย นอกจากนี้ตามเอกสารแสดงรายการขนสินค้าจากเรือไปโรงพักสินค้าที่ลงนามเป็นผู้จดรายการนั้นก็ไม่ปรากฏว่า ป. เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยและใบแจ้งขอทำการบรรทุกและขนถ่ายสินค้ามี อ. ผู้แทนบริษัทอ. เป็นผู้แจ้ง หาใช่จำเลยหรือตัวแทนจำเลยเป็นผู้แจ้งไม่ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้แจ้งกำหนดเรือเข้าแก่ผู้รับตราส่งและให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปแลกใบปล่อยสินค้าจากจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งร่วมกับผู้ขนส่งสินค้าทอดแรกและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่งเรียกเอาค่าเสียหายในกรณีที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าเพื่อบำเหน็จค่าจ้าง เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้งได้สั่งซื้อสินค้าประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรรถยนต์ต่าง ๆจำนวน 45 หีบห่อ จากบริษัทเอฟ.เอ็ม.ซี.คอร์ปอร์เรชั่น จำกัดผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยสินค้าดังกล่าวแยกบรรจุในตู้สินค้าโดยขนส่งทางทะเล 43 หีบห่อและขนส่งทางอากาศ 2 หีบห่อผู้ขายได้จ้างบริษัทซิมอเมริกันอิสราเอลชิปปิ้ง จำกัด ขนส่งสินค้าจำนวน43 หีบห่อ ทางทะเลจากเฮาสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย โดยเรือซิม คิงสตันและเปลี่ยนถ่ายสินค้าลงเรือฮิงซันที่เมืองฮ่องกงเพื่อขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง ได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งไว้กับโจทก์ โดยโจทก์สัญญาว่าหากเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้านั้น โจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในวงเงิน 53,588.14 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,409,368.08 บาทเนื่องจากบริษัทซิมอเมริกันอิสราเอลชิปปิ้ง จำกัด ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย จำเลยจึงตกลงเข้าเป็นผู้ร่วมขนส่งทอดสุดท้ายในประเทศไทยโดยได้รับบำเหน็จตอบแทนตามอัตราทางการค้าซึ่งจำเลยและบริษัทซิมอเมริกันอิสราเอลชิปปิ้ง จำกัด ได้ปฏิบัติตามวิธีการขนส่งทางทะเล ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530เรือฮิงซันได้เข้าเทียบท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากขนถ่ายสินค้าลงจากเรือแล้วได้สำรวจความเสียหายปรากฏว่าตราประทับที่ผนึกปิดฝาตู้สินค้าหายทำให้สินค้าจำพวกแม่แรง จำนวน 2 คู่ราคา 908.88 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 23,745.74 บาทหายไป และสินค้าประเภทเครื่องตั้งล้อจำนวน 2 ชุด เครื่องตั้งศูนย์ถ่วงล้อจำนวน 4 ชุด ตัวป้องกันล้อจำนวน 4 ชิ้น และชุดเปลี่ยนยางจำนวน 6 ชุด ได้รับความเสียหายเป็นสนิมเนื่องจากการเปียกน้ำทะเล ไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ต้องเสียค่าซ่อมแซมโดยขัดสนิมออกเคลือบและพ่นสีใหม่ จำนวน 32,760 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 56,505.74 บาท จำเลยในฐานะผู้ร่วมขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายจึงต้องรับผิดชอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้งได้เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงชดใช้ค่าเสียหายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้งเป็นเงิน 56,505.74 บาท และรับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน56,505.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยใด ๆ ไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง การขนส่งรายการนี้เป็นแบบผู้ขายสินค้าบรรจุตรวจนับสินค้าตลอดจนผนึกตราประทับเองหรือ ซี วาย ผู้ขนส่งไม่ได้เห็นสินค้าในตู้ เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบตู้สินค้าถึงเมืองท่าปลายทางแล้วไม่ต้องรับผิดในความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้ร่วมขนส่งทอดสุดท้ายในประเทศไทย เป็นเพียงตัวแทนมีหน้าที่ให้ความสะดวกแก่นายเรือลูกเรือ และจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ให้แก่เรือซิม คิงสตันเท่านั้น เรือฮิงซันผู้รับขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย จำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาในการรับขนส่งกับผู้ส่ง ผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งไม่ได้เป็นผู้แจ้งกำหนดการมาถึงของสินค้าให้ผู้รับตราส่งทราบ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการหรือจัดการขนถ่ายสินค้าจากเรือมาเก็บไว้ ณ คลังสินค้า การดำเนินกิจการค้าของจำเลยในประเทศไทยเป็นการดำเนินกิจการในฐานะเป็นตัวแทนนายหน้าไม่ได้ดำเนินกิจการในการรับขนส่ง เป็นแต่รับจ้างทำของเท่านั้นสินค้าของหุ้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง ไม่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้เพราะเมื่อเรือฮงซันเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพ บริษัทตัวแทนเรือฮิงซันได้เป็นผู้ขนถ่ายตู้สินค้าลงจากเรือไปเก็บไว้ในเขตการท่าเรือแห่งประเทศไทย เจ้าพนักงานศุลกากรประจำท่าเรือกรุงเทพได้ตรวจตราประทับที่ตู้แล้วเห็นว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย จึงนำตะกั่วมาผนึกไว้ที่ประตูตู้อีกชั้นหนึ่ง และได้มอบตู้สินค้านั้นให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจนกว่าผู้รับสินค้าหรือผู้รับตราส่งจะมาขออนุญาตเปิดตู้และรับสินค้าไป ต่อมาผู้รับสินค้าได้เปิดตู้และนับจำนวนสินค้า ปรากฏว่าตราผนึกสูญหาย และสินค้าในตู้นับได้ 41 หีบห่อ ไม่มีสินค้าใดเสียหาย ตู้สินค้าสามารถป้องกันน้ำฝนและคลื่นน้ำทะเลเป็นอย่างดี การขนส่งรายนี้ไม่มีรายงานภัยทางทะเลเกิดขึ้น สินค้าภายในตู้จึงไม่เปียกน้ำทะเลตามที่โจทก์อ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้งมิใช่ผู้เสียหาย เพราะยังมิใช่เจ้าของสินค้าพิพาท เนื่องจากความเสียหายเกิดขึ้นก่อนสิทธิในสินค้าจะตกไปยังผู้รับตราส่งโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง โจทก์จึงมิใช่ผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลย นอกจากนี้ประเพณีที่ปฏิบัติในการขนส่งทางทะเลคู่สัญญาตกลงยอมรับเงื่อนไขและกำหนดในใบตราส่งว่า หากผู้ส่งไม่ต้องการจะแจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ขนส่งก็รับผิดไม่เกินหีบห่อละ100 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,500 บาท ดังนั้น หากมีความเสียหายจริงจำเลยก็รับผิดไม่เกิน 4,500 บาท เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 56,505.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าโดยว่าจ้างบริษัททรานสโอเชิ่นคอมเมอร์เชี่ยลจำกัด ทำการขนถ่ายสินค้า และจำเลยเป็นผู้ขออนุญาตต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขนถ่ายสินค้าออกจากตู้สินค้า ถือว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหลายคนตามวิธีการขนส่งทางทะเลจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ตอนบนของเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งเป็นรายการขนสินค้าจากเรือระบุเพียงว่าบริษัททรานสโอเชิ่นคอมเมอร์เชี่ยล จำกัด แต่ไม่ปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่าบริษัททรานสโอเชิ่นคอมเมอร์เชี่ยล จำกัด เป็นตัวแทนของจำเลย และผู้ลงนามตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าเป็นผู้จดรายการนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเป็นพนักงานของจำเลยหรือตัวแทนของจำเลย นอกจากนี้ตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นเอกสารหมายล.3 ซึ่งเป็นเอกสารแสดงรายการขนสินค้าจากเรือไปโรงพักสินค้า 8ที่นายประกรณ์ รัชไชยบุญ ลงนามเป็นผู้จดรายการนั้นก็ไม่ปรากฏว่านายประกรณ์เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าโดยว่าจ้างบริษัททรานสโอเชิ่นคอมเมอร์เชี่ยล จำกัด และเป็นผู้ขออนุญาตการท่าเรือแห่งประเทศไทยขนถ่ายสินค้าออกจากตู้สินค้าก็ไม่ปรากฏหลักฐานการจ้าง และใบแจ้งขอทำการบรรทุกและขนถ่ายสินค้า ก็มีนายอุดม อิ่มประดิษฐ์ ผู้แทนบริษัทเอเซียมาริไทยม์เอเย่นซี่จำกัด เป็นผู้แจ้ง หาใช่จำเลยหรือตัวแทนจำเลยเป็นผู้แจ้งไม่ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้แจ้งกำหนดเรือเข้าแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง ผู้รับตราส่ง และให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง นำใบตราส่งไปแลกใบปล่อยสินค้าจากจำเลย ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งร่วมกับผู้ขนส่งสินค้าทอดแรกและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส แอนด์ พี เทรดดิ้ง เรียกเอาค่าเสียหายในกรณีที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง
พิพากษายืน

Share