คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6810/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วย ศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511นั้นภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันได้รับโอนที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณีและที่ดินประเภทนี้ก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่พิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแม้จะเป็นสัญญาจะซื้อขาย และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันภายหลังเมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้วก็ตามก็เป็นกรรมสิทธิ์ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113(เดิม),140(ใหม่) จำเลยฎีกาว่าคดีเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่ทำกินของประชาชนซึ่งมีราคาสูงขึ้นผู้ทำสัญญาจะขายมักจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขายทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมสังคมศาลชอบที่จะหยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12995 เนื้อที่24 ไร่ ให้แก่จำเลยในราคา 160,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี โจทก์ได้รับชำระราคาพร้อมส่งมอบที่ดินและโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โจทก์จำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันเสร็จเด็ดขาดโดยมิได้มีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินตามฟ้องคืนแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยกับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ขณะตกลงซื้อขายที่พิพาทจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของโจทก์โดยได้รับมรดกจากบิดา การซื้อขายไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะขณะทำสัญญาโจทก์จำเลยต่างก็รู้ดีว่าที่พิพาทยังโอนไม่ได้ จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่พิพาท โจทก์เพิกเฉย โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 228,400 บาท ให้แก่จำเลยขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ถ้าโจทก์ไม่ปฎิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทระหว่างอยู่กินกับสามีโจทก์ จึงเป็นสินสมรส มิใช่ได้รับมรดกจากบิดา จำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะมิได้กำหนดไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 12995พร้อมโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ โดยให้โจทก์คืนเงินจำนวน 160,000 บาทแก่จำเลย ห้ามมิให้จำเลยกับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม นายเผื่อน อยู่ดีกับพวกรวม 10 คน บุตรของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่าสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา 12วรรคแรก บัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี” วรรคสองบัญญัติว่า “ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นเจตนารมณ์ได้ว่า ประสงค์จะปกป้องราษฎรผู้ได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปี จะจำหน่ายจ่ายโอนด้วยประการใด ๆ มิได้เว้นแต่ตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แม้แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธินำยึดที่ดินเพื่อบังคับชำระหนี้ดังนี้ การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่พิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะเป็นสัญญาจะซื้อขายซึ่งฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันภายหลังเมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วตามฎีกาของจำเลยก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
ปัญหาข้อต่อไปซึ่งจำเลยฎีกาว่า คดีนี้เกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่ทำกินของประชาชน ซึ่งในระยะสองสามปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัว ผู้ทำสัญญาจะขายมักหาวิธีหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขายตามสัญญา ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะยกเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยแม้คู่ความจะมิได้โต้แย้งกันไว้ในคำคู่ความก็ตามขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยมิได้มีการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในข้อใดอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share