คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คชำระหนี้ค่าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แก่อ. เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ แม้ อ. จะนำเช็คไปแลกเงินสดจากผู้เสียหาย และผู้เสียหายเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม จำเลยก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1)(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(3) จำคุก6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้จำคุก2 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะข้อ 2.4 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ฎีกานอกนั้นไม่รับเพราะคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังหรือไม่ จำเลยฎีกาข้อ 2.4 ว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4บัญญัติถึงการออกเช็คที่จะเป็นมูลความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ว่าจะต้องปรากฏในเบื้องต้นว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อนแล้วออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้ปรากฏว่านายอนิรุธนำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากผู้เสียหาย การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แก่นายอนิรุธ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ เมื่อนายอนิรุธโอนเช็คต่อไปยังผู้เสียหายโดยการนำไปแลกเงินสดและเช็คถึงกำหนดชำระแล้วผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปเบิกเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีจำเลยปิดแล้ว และในวันที่เช็คถึงกำหนดชำระอันถือเป็นวันออกเช็คคือวันที่ 31 มกราคม 2533 เงินในบัญชีจำเลยก็ไม่พอจ่ายจึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น จึงย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1)(3) ส่วนการที่นายอนิรุธซึ่งได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้แก่ตนจะโอนเช็คไปยังผู้เสียหายแม้จะเป็นการนำไปแลกเงินสดกับผู้เสียหายก็เป็นเรื่องระหว่างนายอนิรุธกับผู้เสียหาย ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงในฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างไม่ตรงกับคดีนี้จึงไม่อาจนำมาปรับแก่คดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับในภายหลังและเป็นคุณแก่จำเลยนั้นชอบแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ยังไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3)นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share