คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6807/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า ไม่ทราบไม่รับรองหนังสือมอบอำนาจเพราะเป็นเพียงสำเนานั้น มิใช่เป็นการปฏิเสธความแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจ การที่จำเลยไม่ทราบไม่ใช่เหตุที่จะทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์เสียไปและที่จำเลยไม่รับรองก็ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าทำไมหนังสือมอบอำนาจที่เป็นสำเนาจึงไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี
เอกสารท้ายคำฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ตามบัญชีเดินสะพัดและใบแสดงรายการบัญชีเดินสะพัดเอกสารท้ายคำฟ้องระบุรายละเอียดรายการที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในแต่ละเดือน จำเลยย่อมเข้าใจได้ดี และในส่วนที่เป็นรหัสในบัญชีเดินสะพัดมีคำอธิบาย แม้จะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็เป็นประเพณีปฏิบัติในวงการธนาคารเป็นที่ทราบกันทั่วไป แม้โจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม ก็บัญญัติไว้เพียงว่าให้ศาลสั่งให้คู่ความที่ส่งทำคำแปลแนบไว้กับต้นฉบับเท่านั้น ส่วนเลขบัญชีและยอดเงินไม่ตรงกันและไม่ต่อเนื่องกันนั้นเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในทางบัญชี ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบให้เห็นในชั้นพิจารณาได้ ทั้งจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้อย่างถูกต้อง คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดระยะเวลากันไว้แน่นอนสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นย่อมสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 บัญญัติให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่พิพาทได้กำหนดระยะเวลาไว้แต่เมื่อครบกำหนดแล้วยังได้มีการเดินบัญชีสะพัดกันอีก ถือได้ว่ามีสัญญาต่อไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา และหลังจากจำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว โจทก์ก็คิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าหักถอนบัญชีอีก ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป ดังนี้ การที่โจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน ทั้งโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยจึงแสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่โจทก์คิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย กรณีหาใช่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดลงในวันที่ครบกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ถึงเพียงวันที่คิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเท่านั้น
ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17 ต่อปี และถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยยอมให้ขึ้นได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งอัตราร้อยละ 17 ต่อปี เป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนี้หลังจากเลิกสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นได้เท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524 จำเลยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยได้ใช้เช็คเบิกถอนเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีกันเรื่อยมาต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2526 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน7,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 21ธันวาคม 2526 และยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ ภายหลังครบกำหนดจำเลยยังคงต่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนมากแล้วไม่ชำระหนี้อีกขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,683,739.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 2,342,180.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจะได้มีการมอบอำนาจกันจริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสำเนาเอกสาร จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ใช้เช็คกันตามปกติ โดยไม่ได้ตกลงปฏิบัติตามข้อตกลงที่โจทก์ระบุจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามจำเลย จำเลยไม่เคยตกลงเรื่องดอกเบี้ยกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องกับจำเลย คำฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้กล่าวอ้างว่าในแต่ละเดือนจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด และการ์ดบัญชีกระแสรายวันมีรหัสเป็นภาษาอังกฤษและเป็นศัพท์เฉพาะทางบัญชี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,683,739.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 2,342,180.74 บาท นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 2,348,258.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2531 ถึงวันที่ 15 มีนาคม2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2536 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 และ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยให้การว่าไม่ทราบไม่รับรองหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เนื่องจากเป็นเพียงสำเนาจำเลยจึงไม่ทราบถึงความถูกต้องแท้จริง เป็นการชัดแจ้งถึงการปฏิเสธอยู่ในตัวแล้ว จึงถือได้ว่ามีประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เพียงแต่คำให้การของจำเลยที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า ไม่ทราบไม่รับรองหนังสือมอบอำนาจเพราะเป็นเพียงสำเนานั้นมิใช่เป็นการปฏิเสธความแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจ การที่จำเลยไม่ทราบไม่ใช่เหตุที่จะทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์เสียไป และที่จำเลยไม่รับรองก็ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าทำไมหนังสือมอบอำนาจที่เป็นสำเนาจึงไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาต่อมามีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าการ์ดบัญชีเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 และเอกสารหมาย จ.23 มีเลขบัญชีและยอดเงินไม่ตรงกันและไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ เห็นว่า เอกสารท้ายคำฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ตามบัญชีเดินสะพัดและใบแสดงรายการบัญชีเดินสะพัดเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 15 ระบุรายละเอียดรายการที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในแต่ละเดือน จำเลยย่อมเข้าใจได้ดี ในส่วนที่เป็นรหัสในบัญชีเดินสะพัดมีคำอธิบาย แม้จะเป็นภาษาอังกฤษแต่ก็เป็นประเพณีปฏิบัติในวงการธนาคารเป็นที่ทราบกันทั่วไป แม้โจทก์ไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติไว้เพียงว่าให้ศาลสั่งให้คู่ความที่ส่ง ทำคำแปลแนบไว้กับต้นฉบับเท่านั้น ส่วนเลขบัญชีและยอดเงินไม่ตรงกันและไม่ต่อเนื่องกันนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในทางบัญชี ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบให้เห็นในชั้นพิจารณาได้ จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้อย่างถูกต้อง จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม

ปัญหาต่อมามีว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จริง

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้เพียงใด เห็นว่าหากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดระยะเวลากันไว้แน่นอนสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นย่อมสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 บัญญัติให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้ คดีนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.13ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วยังได้มีการเดินบัญชีสะพัดกันอีก ซึ่งถือได้ว่ามีสัญญาต่อไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อโจทก์และจำเลยต่างยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2529 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีจำนวน 60,000 บาท เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าหักถอนบัญชีอีก ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป และโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 2,318,719.13 บาท ถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน ทั้งโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยจึงแสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย หาได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 เมษายน 2531 อันเป็นวันครบกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ถึงเพียงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 เท่านั้น หาได้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 31 มีนาคม 2531 ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่

ส่วนปัญหาว่าหลังเลิกสัญญาโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดเห็นว่าตามสัญญาข้อ 2 จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี และถ้าต่อไปผู้ให้กู้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยยอมให้ขึ้นได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งอัตราร้อยละ 17 ต่อปี เป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 หลังเลิกสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นได้เท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอีกไม่ได้ อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยหลังเลิกสัญญาระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2531 ถึงวันที่15 มีนาคม 2533 และระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533โจทก์ขอคิดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และ 16.5 ต่อปี ตามลำดับเท่านั้น จึงต้องเป็นไปตามคำขอของโจทก์ซึ่งไม่เกินอัตราร้อยละ 17 ต่อปี และเมื่อได้ความว่าหลังจากสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยได้นำเงินไปชำระให้โจทก์รวม 11 ครั้ง รวมจำนวน 355,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.27 จึงให้นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,318,719.13 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2531 วันที่ 30พฤษภาคม 2531 วันที่ 30 มิถุนายน 2531 วันที่ 28 กรกฎาคม 2531 วันที่ 31 สิงหาคม2531 วันที่ 30 กันยายน 2531 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 รวม 7 ครั้ง ครั้งละ 30,000บาท และวันที่ 20 มกราคม 2532 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2532 วันที่ 21 มีนาคม 2532 รวม3 ครั้ง ครั้งละ 35,000 บาท ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2532 อีก 40,000 บาทรวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น 355,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยก่อนหากมีเหลือจึงหักชำระต้นเงินต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share