แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมใดบ้างนั้น แม้จำเลยมิได้ฎีกาก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วม แล้วดูหมิ่นโจทก์ร่วมกับชกต่อยโจทก์ร่วมในทันทีทันใดนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาอันแท้จริง เพื่อดูหมิ่นและทำร้ายโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยในตอนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 อันเป็นบทหนักที่สุดต่อมาจำเลยฉุดแขนโจทก์ร่วมออกจากเคหสถานลากพาตัวไปยังถนนสาธารณะอันเป็นการทำให้โจทก์ร่วมปราศจากเสรีภาพในร่างกายพร้อมทั้งได้ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายทันที ซึ่งถือได้ว่าเป็นการข่มเหงรังแกหรือทำให้โจทก์ร่วมเดือดร้อนรำคาญด้วยนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับความผิดฐานทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นเอง การกระทำของจำเลยในตอนหลังนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 อันเป็นบทหนักที่สุด รวมเป็นความผิด 2 กระทง
มูลเหตุแห่งคดีเกิดจากโจทก์ร่วมได้ว่ากล่าวบุตรของจำเลยว่าเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน ความเจ็บร้อนย่อมเกิดขึ้นได้ตามวิสัยปุถุชนจึงมีการต่อว่าต่อขานและเป็นมูลให้ทะเลาะกันอย่างจริงจังในที่สุดบาดแผลของโจทก์ร่วมเป็นบาดแผลที่ไม่รุนแรงกับคำว่า ‘อีเหี้ย อีสัตว์’ที่จำเลยด่าโจทก์ร่วมก็เป็นแต่ถ้อยคำที่ผู้ถูกว่าเกิดความระคายเคืองใจไม่มีผู้ใดคิดและเชื่อว่าโจทก์ร่วมจะเป็นเช่นนั้นพิเคราะห์ตามมูลเหตุพฤติการณ์แห่งคดีและบาดแผล เป็นการสมควรที่ศาลจะรอการลงโทษไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๘ เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดหลายกรรม คือเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของ นายวิรัตน์ ล้อมพงศ์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วดูหมิ่นนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ ว่า “อีเหี้ย อีสัตว์” ทั้งนี้เพราะจำเลยโกรธเคืองนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ ที่ว่าบุตรจำเลยว่า “เด็กอะไรพ่อแม่ไม่สั่งสอน” แล้วชกต่อยใบหน้าของนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ แล้วจำเลยได้ฉุดแขนนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ออกจากเคหสถาน ลากพาตัวไปยังถนนสาธารณะอันเป็นการทำให้นางสาวรัตนาล้อมพงศ์ ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย หลังจากนั้นจำเลยกับภริยาได้ร่วมกันใช้มือกดศีรษะ ตบตีศีรษะและร่างกาย เตะนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์หลายครั้งจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรังแกและข่มเหงนางสาวรัตนาล้อมพงศ์ ในที่สาธารณสถานและต่อหน้าธารกำนัล โดยจำเลยกับภริยาได้ร่วมกันกล่าววาจาทำให้นางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ เหตุเกิดที่ตำบลวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๑๐, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๙๓, ๓๙๗, ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
นางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ครั้นสืบพยานโจทก์เสร็จ และสืบพยานจำเลยได้สองปาก จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามข้อหาในคำฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๓๑๐, ๓๖๕, ๓๙๓, ๓๙๗, ๘๓ รวม ๕ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษลงโทษฐานบุกรุกจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าปรับ ๓๐๐ บาท ฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท ฐานทำร้ายร่างกายจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท ฐานข่มเหงผู้อื่นปรับ ๓๐๐ บาท รวมโทษจำคุก ๙ เดือน ปรับ ๒,๑๐๐ บาทจำเลยรับสารภาพเมื่อสืบพยานไปบ้างแล้ว ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๖ เดือน และปรับ ๑,๔๐๐ บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานบุกรุกฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพและฐานทำร้ายร่างกาย ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับและรอการลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกา อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ครั้งแรกจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาหลังจากสืบพยานไปบ้างแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษ รวมเป็นความผิด ๕ กระทงจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมใดบ้าง ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา ก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมแล้วดูหมิ่นโจทก์ร่วม กับชกต่อยโจทก์ร่วมในทันทีทันใดนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาอันแท้จริงเพื่อดูหมิ่นและทำร้ายโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยในตอนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทหนักที่สุดลงโทษคือความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ ต่อมาจำเลยได้ฉุดแขนโจทก์ร่วมออกจากเคหสถาน ลากพาตัวไปยังถนนสาธารณะ อันเป็นการทำให้โจทก์ร่วมปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พร้อมทั้งได้ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายทันที ซึ่งถือได้ว่าเป็นการข่มเหงรังแก หรือทำให้โจทก์ร่วมเดือดร้อนรำคาญด้วยนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับความผิดฐานทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นเอง การกระทำของจำเลยในตอนหลังนี้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ อันเป็นบทหนักที่สุดกล่าวโดยสรุป การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ๒ กระทง เท่านั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิด ๕ กระทง และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นสมควรแก้เสียใหม่ให้ถูกต้อง
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ ได้ความตามคำฟ้องว่า มูลกรณีที่จะเกิดเป็นคดีนี้เป็นเพราะนางสาวรัตนา ล้อมพงศ์ โจทก์ร่วมได้ว่ากล่าบุตรของจำเลยว่าเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน ถ้อยคำดังกล่าวอาจไม่ทำให้เด็กรู้สึกอะไร แต่สำหรับบิดามารดาของเด็กย่อมจะรู้สึกว่าคนถูกโจทก์ร่วมปรามาส ความเจ็บร้อนย่อมเกิดขึ้นได้ตามวิสัยของปุถุชน การต่อว่าต่อขานระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมน่าจะมีขึ้นก่อน แล้วจึงเป็นมูลให้เกิดการทะเลาะกันอย่างจริงจังในที่สุด ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวิทยา เกษวิริการ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ที่ว่า โจทก์ร่วมมาแจ้งความว่า “จำเลยซึ่งมีบ้านติดกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกายโดยให้รายละเอียดว่าเกิดทะเลาะกันแล้วจำเลยได้บกุเข้าไปในบ้านทำร้ายร่างกาย” ศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังแต่ถ้อยคำที่ว่า”เด็กอะไรพ่อแม่ไม่สั่งสอน” ไม่น่าจะทำให้จำเลยลุอำนาจโทสะถึงแก่บุกรุกเข้าไปด่าและทำร้ายโจทก์ร่วมผู้เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ถ้อยคำที่จำเลยกับโจทก์ร่วมทะเลาะกันน่าจะรุนแรงอยู่ จะว่าโจทก์ร่วมไม่มีส่วนยั่วยุให้จำเลยทำผิดเป็นคดีนี้เสียเลยยังไม่ถนัดเมื่อมูลกรณีเกิดแต่การทะเลาะกัน บาดแผลของโจทก์ร่วมที่เปลือกตาซ้ายเพียงถลอก ๒ แห่งขนาด ๐.๕+๑ เซนติเมตร และ ๐.๕+๐.๕ เซนติเมตร บาดเจ็บที่เหนือคิ้วซ้ายขากรรไกรขวา รักษาประมาณ ๗ วัน เป็นบาดแผลที่ไม่รุนแรง ที่แขนขวามีเลือดเล็กน้อยนั้นก็ไม่ปรากฏว่าแขนขวามีบาดแผลที่ใด เลือดเล็กน้อยนั้นมาจากที่ใด เกิดแต่อะไร กับคำว่า”อีเหี้ย อีสัตว์” เป็นแต่ถ้อยคำที่ผู้ถูกว่าเกิดความระคายเคืองใจ ไม่มีผู้ใดคิดและเชื่อว่าโจทก์ร่วมและเป็นเช่นนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงมูลพฤติการณ์แห่งคดีและบาดแผลแล้วศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยยังไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุกด้วยความผิดอันไม่อายถือได้ว่ามีสภาพเป็นอาชญากรรมครั้งนี้ ควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวกลับใจสักครั้ง โทษจำคุกที่รอการลงโทษจริงอยู่ภายหน้านั้น น่าจะทำให้จำเลยเกิดสังวรไม่ลุอำนาจโทสะอีกต่อไปการรอการลงโทษเป็นการปรับคดีพอควรแก่การกระทำของจำเลยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไปทีเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๖๕, ๓๙๓, ๓๙๗, ๘๓ เป็นความผิด ๒ กระทง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ จำคุก ๓ เดือน และปรับ ๗๐๐ บาท กระทงหนึ่งและลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท อีกกระทงหนึ่งรวมโทษจำคุก ๖ เดือน และปรับ ๑,๒๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพเมื่อสืบพยานไปแล้วลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสามคงจำคุก ๔ เดือน และปรับ ๘๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐